วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

การจัดการมรดกที่ดิน

ผู้จัดการมรดก เพื่อการจัดการมรดก



ผู้จัดการมรดกคือใคร
      ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก โดยมีสิทธิตามกฎหมายในการรวบรวมทรัพย์มรดกของผู้ตาย เพื่อไปแบ่งปันให้แก่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายต่อไป

ทำไมต้องร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ? 

       เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของผู้ตายนั้นตกทอดแก่ทายาท ซึ่งมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิด รวมทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่างๆ ที่ไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย
      ชึ่งแม้มรดกจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเช่น ลูกหลาน สามีภริยา บิดามารดา ของผู้ตายหรือตกทอดแก่ทายาทโดยพินัยกรรม ( กรณีมีพินัยกรรม ) ก็ตาม แต่ในการไปติดต่อกับบุคคลหรือหน่วยงานท่ีเกี่ยวข้องเพื่อจะโอนมรดกจากชื่อผู้ตายมาเป็นชื่อของทายาท ให้มรดกตกเป็นของทายาทโดยสมบูรณ์น้ั้น อาจมีเหตุขัดข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ธนาคารไม่ยอมให้ถอนเงิน เจ้าหน้าที่ที่ดินไม่ดำเนินการโอนให้ ไฟแนนซ์ไม่ยอมโอนให้ แจ้งว่าต้องให้ผู้ติดต่อยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลและนำคำสั่งศาลที่ตั้งผู้จัดการมรดกมาเเสดงเสียก่อนจึงจะสามารถดำเนินการให้ได้


เหตุขัดข้องที่ทำให้ไม่สามารถจัดการมรดกได้

  1. เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทายาทโดยธรรมหรือทายาทโดยพินัยกรรมสูญหายหรืออยู่ต่างประเทศหรือเป็นผู้เยาว์ ( ทายาทไปไม่ครบ )
  2. เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทโดยธรรมไม่สามารถหรือไม่เต็มใจจัดการมรดกหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกหรือเเบ่งปันมรดก ( ตกลงกันไม่ได้ ) 
  3. เมื่อข้อกำหนดตามพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไม่มีผลบังคับ


คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก ตามมาตรา ๑๗๑๘ 

  1. บรรลุนิติภาวะ คือ มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์หรือโดยการสมรสตามกฎหมาย
  2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต
  3. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

ผู้มีิสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก มาตรา ๑๗๑๓

  1. ทายาทโดยธรรมที่มีีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเท่านั้น ไม่รวมถึงทายาททุกลำดับชั้น หรือ ทายาทโดยพินัยกรรม
  2. พนักงานอัยการ
  3. ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก เช่น 
  • ผู้สืบสิทธิจากทายาท ผู้รับมรดกเเทนที่  เช่น บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วเป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิรับมรดกแทนท่ี่บิดาที่ตายไปแล้วได้ ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของปู่ ฎีกาที่ ๑๑๑๗/ ๒๕๓๖
  • เจ้าของรวม ในทรัพย์มรดก เช่นมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ตายในที่ดิน ฎีกาทีี่ ๙๐๒ / ๒๕๔๑
  • สามีหรือภริยาทีี่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่กินด้วยกันและมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันถือว่าเป็นเจ้าของรวมของสามีหรือภริยา หลักเดียวกันกับเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมนั้นเอง ฎ.๒๕๑๐/๒๕๔๕              แต่ถ้าระหว่างอยู่กินกันนั้น ไม่มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ก็ถือว่าไม่ผู้มีส่วนได้เสียนะครับ
  • เจ้าหนี้ของกองมรดก เพราะเม่ื่อลูกหนี้ตาย เจ้าหนี้สามารถฟ้องทายาทหรือผู้รับพินัยกรรมให้รับผิดชำระหนี้จากกองมรดกได้อยู่แล้ว ( แต่ทายาทรับผิดชอบไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ ) เจ้าหนี้จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอหรือร้องคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดกได้ ฎีกาที่ ๒๖๗/ ๒๕๒๔
  • ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม  ในกรณีที่ผู้ตายตั้งผู้จัดการมรดกโดยระบุไว้ในพินัยกรรม
  • ผู้แทนโดยชอบธรรมของผุ้เยาว์ซึ่งเป็นทายาท 
  • ผู้ปกครองผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทตามคำสั่งศาล เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการจัดการมรดกเพื่อประโยชนฺ์ของผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาท เนื่องจากผู้เยาว์ไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเองได้ ฎ. ๕๘๗/๒๕๒๓
                    ดังนั้นบุคคลอื่นนอกจากทายาท พนักงานอัยการหรือผู้มีส่วนได้เสียแล้ว จะยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกไม่ได้ เเม้จะเป็นบุคคลที่ทายาททุกคนตกลงให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม ฎ.๓๘๗/๒๕๑๘
                    แต่ทางแก้คือ กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าผู้จัดการมรดก จะต้องเป็นทายาท ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ ดังนั้นผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง สามารถขอให้ศาลตั้งบุคคลอื่นที่มีคุบิณสมบัติไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๗๑๘ เป็นผู้จัดการมรดกได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น ฎ.๑๗๘๒/๒๕๔๑

เอกสารที่ใช้ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาล

          ๑. หลักฐานแสดงความสัมพันธ์ของผู้ร้องกับเจ้ามรดก เช่น

  • กรณีบุตรยื่นของบิดา/ มารดา หรือ บิดา/ มารดา ยื่นของบุตร มีใบสำคัญการสมรสหรือใบสำคัญการหย่าของบิดามารดา ใบสูติบัตรหรือทะเบียนการรับรองบุตร หรือทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม
  • กรณีคู่สมรส มีใบสำคัญการสมรสระหว่างผู้ยื่นคำร้องกับของผู้ตาย
  • กรณีเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน สูติบัตรของผู้ร้องและของผู้ตาย
  • กรณีเป็นผู้รับพินัยกรรมหรือผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม มีพินัยกรรม
           ๒. ใบมรณะบัตรหรือหนังสือรับรองการตาย ของเจ้ามรดก 
           ๓. ทะเบียนบ้านของเจ้ามรดก 
           ๔. หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์มรดก เช่น โฉนดที่ดิน สมุดคู่ฝากธนาคาร คู่มือรายการจดทะเบียนรถยนต์หรือจักรยานยนต์ สัญญาเช่าซื้อ ใบหุ้น ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เป็นต้น
           ๕. บัญชีเครือญาติ คือทายาทที่มีสิทธิรับมรดกมีใครบ้าง พ่อแม่มีลูกหลาน กี่คน ?
           ๖. ใบมรณบัตรของทายาทที่มีสิทธิรับมรดกที่ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก
           ๗. หนังสือให้ความยินยอม ทนายความเป็นผู้มอบให้ผู้ร้องนำไปให้ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเซ็นต์ยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก พร้อมกับแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านที่เซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้องโดยทายาทดังกล่าว ( กรณีทายาทเป็นผู้เยาว์ ใช้สูติบัตรแทน )
           ๘. หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล ของผู้ร้องหรือของเจ้ามรดก
           ๙. สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชนของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
           ๑๐. ในกรณีร้องขอให้ศาลตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลนั้นด้วย
           ๑๑. ในกรณีที่ซื่อตัวหรือชื่อสกุล ไม่ตรงกัน เช่นตามทะเบียนบ้าน กับในโฉนดที่ดิน ชื่อไม่ตรงกัน ต้องมีหนังสือรับรองบุคคลมาแสดงด้วย

          หมายเหตุ
  1.  เอกสารทุกฉบับต้องมีต้นฉบับมาแสดงต่อศาลในวันไต่สวนคำร้องด้วย
  2. กรณีเอกสารใดสูญหายหรือไม่มีต้นฉบับให้ไปดำเนินการขอคัดสำเนาเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้เจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้องด้วย

ระยะเวลาในการดำเนินการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

        นับตั้งแต่วันยื่นคำร้องขอจัดการมรดก ศาลจะนัดไต่สวนคำร้องขอ ซึ่งเร็วสุดคือ ๔๕ วัน แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับวันว่างของศาลและทนายความด้วย ซึ่งในวันนัดไต่สวน ผู้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต้องมาศาลด้วยพร้อมกับต้นฉบับเอกสารทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนทายาทคนอื่นจะมาด้วยหรือไม่ก็ได้เนื่องจากให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมแล้ว ใช้เวลาในการไต่สวนคำร้องประมาณ ๑๐ นาที
        หลังจากไต่สวนเสร็จและศาลมีคำสั่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้ร้องสามารถขอคัดถ่ายคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยให้เจ้าหน้าที่ศาลรับรองสำเนาถูกต้องและผู้ร้องสามารถนำสำเนาคำสั่งดั่งกล่าวไปดำเนินการตามความประสงค์ได้ต่อไป
        หมายเหตุ แต่ในกรณีีที่มีทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นคัดค้าน ก็จะทำให้กลายเป็น"คดีที่มีข้อพิพาท" ถ้าตกลงกันไม่ได้ในวันที่นัดไต่สวน ก็ให้ต้องเลื่อนคดีไปตามระเบียบ ไม่สามารถเสร็จในวันเดียวได้

       การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก กฎหมายเพื่อความสุข คดีไม่มีข้อพิพาท ไม่มีอะไรยุ่งยาก ๑ วันจบ ถ้าพี่น้องตกลงกันได้.....

แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะครับ กฎหมายเพื่อความสุข


ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา กฎหมายเพื่อความสุข