ในกรณีเจ้าคุณปู่ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้
ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกจะมีใครบ้าง ?
ตัวอย่าง บัญชีเครือญาติ ผู้มีสิทธิรับมรดก
ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย มาตรา ๑๖๒๙
มีอยู่ ๗ ลำดับชั้นด้วยกันคือ คู่สมรสเป็นชั้นพิเศษไม่นับ...
- ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื้อ ( และบุตรบุญธรรม )
- บิดามารดา
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
- ปู่ย่า ตายาย
- ลุงป้า น้าอา
- คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ตามมาตรา ๑๖๒๙ วรรคสอง แต่มีสิทธิพิเศษเลื่อนชั้น เพื่อรับมรดกได้ตามมาตรา ๑๖๓๕
- ตกแก่แผ่นดิน ถ้าไม่มีทายาทรับมรดกทั้ง ๖ ชั้นดังกล่าว ตามมาตรา ๑๗๕๓
โดยกฎหมายให้สิทธิแก่ญาติที่สนิทสนมกับผู้ตายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดกก่อน ส่วนทายาทที่สนิทสนมรองลงมาจะได้รับมรดกก็ต่อเมื่อญาติสนิทในลำดับต้นไม่มี ส่วนคู่สมรสนั้นจะมีสิทธิได้รับมรดกเสมอ ตามส่วนมากน้อยตามที่กฎหมายกำหนดให้ไว้
สิทธิในการรับมรดก ส่วนแบ่งของทายาทแต่ละคนที่ได้รับตามกฎหมาย
สิทธิในการรับมรดกของบุตร แบ่งเป็น ๓ ประเภทด้วยกันคือ
๑. บุตรชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่บุตรที่บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย จดก่อนเกิดหรือหลังเกิดก็ได้ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของแม่เท่านั้น ตาม มาตรา ๑๕๔๖ ถ้าไม่จดทะเบียนสมรสกัน จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของพ่อ เมื่อพ่อได้จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรของตน หรือมีคำพิพากษาของศาลว่าบุตรนั้นเป็นบุตรของบิดา ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๕๔๗
๒.บุตรบุญธรรม ซึ่งเจ้ามรดกผู้ตายได้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ตามป.พ.พ. มาตรา ๑๕๙๘/ ๒๗ มีสิทธิรับมรดกตาม มาตรา ๑๖๒๗
บุตรของบุตรบุญธรรม มีสิทธิรับมรดกแทนที่บุตรบุญธรรม ที่เสียชีวิตก่อนเจ้ามรดกได้
ตามมาตรา ๑๖๓๙
แต่ผู้รับบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุญธรรมนะครับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๙๘/๒๙
และบุตรบุญธรรมยังมีสิทธิรับมรดกของบิดามารดาที่แท้จริงได้ด้วย ตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๘
สุดท้ายบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสผู้รับบุตรบุญธรรม ยกเว้นว่าคู่สมรสนั้นจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมคนดังกล่าวด้วย
๓.บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว คือ พ่อได้แสดงออกหรือมีพฤติการณ์รับรองว่าบุตรคนนั้นเป็นบุตรของตน เช่น ให้ใช้นามสกุล แจ้งเกิดว่าเป็นบุตรของตน อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา ให้เรียกว่าพ่อ เป็นต้น มีสิทธิได้รับมรดกตามมาตรา ๑๖๒๗
ส่วนบิดานอกกฎหมายไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรนอกกฎหมายนะครับ
แม้จะรับรองว่าเป็นบุตรของตนแล้วก็ตาม...
ส่วนบุตรนอกกฎหมาย ที่บิดาไม่ให้การรับรองว่าเป็นบุตร
ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของบิดานอกกฎหมายนะครับ...
สิทธิในการรับมรดกของคู่สมรส คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่และจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
มีสิทธิรับมรดกเสมอ ตามส่วนแบ่งมากน้อย ดังต่อไปนี้
๑.ถ้าผู้ตายมีทายาทลำดับที่ ๑ ผู้สืบสันดาน คือ ลูกหลาน เหลน ลื้อ บุตรบุญธรรม
คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกเท่ากันกับผู้สืบสันดาน
๒.ถ้าผู้ตายเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรมลำดับที่ ๓ คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือมีทายาทโดยธรรมลำดับที่ ๒ คือบิดามารดาของผู้ตาย ในกรณีนี้ คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกครึ่งหนึ่ง
๓.ถ้าผู้ตายมีทายาทโดยธรรมลำดับที่ ๔ คือ พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
หรือมีทายาทลำดับที่ ๕ คือปู่ ยา ตา ยาย หรือมีทายาทลำดับที่ ๖ คือ ลุง ป้า น้า อา คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดก ๒ ใน ๓ ส่วน
๔.ถ้าผู้ตายไม่มีทายาทดั่งที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิรับมรดกทั้งหมด
ในกรณีที่สามีภริยา เลิกกันแล้ว แต่ยังไม่จดทะเบียนหย่าขาดกันตามกฎหมาย ในกรณีนี้ ตามกฎหมายยังถือว่าเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย จึงมีสิทธิรับมรดกของกันและกัน ่ตามมาตรา ๑๖๒๘
สิทธิในการรับมรดกของบิดามารดา ให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งมรดกเสมือนทายาทชั้นบุตร ตามมาตรา ๑๖๓๐ วรรคสอง
การแบ่งมรดกระหว่างทายาทโดยธรรม
ก่อนนำทรัพย์มรดกของผู้ตายมาแบ่งปันระหว่างทายาทนั้น ต้องดูก่อนว่าสุดท้ายแล้วผู้ตายมีทรัพย์มรดกเหลือสำหรับแบ่งปันทายาทโดยธรรมเท่าไหร ?
โดยดูจากเงิือนไขต่อไปนี้
๑. ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้หรือเปล่า ถ้าผู้ตายเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผลบังคับ หรือพินัยกรรมบังคับได้บางส่วน ให้แบ่งทรัพย์มรดกที่เหลือทั้งหมดให้กับทายาทโดยธรรม
ตามมาตรา ๑๖๒๐
๒.เจ้ามรดกตายในขณะที่คู่สมรสยังมีชีวิตอยู่ ต้องแบ่งสินสมรสให้กับคู่สมรสครึ่งหนึ่งเสียก่อน ที่เหลือหลังจากนั้นจึงถือว่าเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ต้องมาแบ่งปันให้กับทายาทต่อไป....
ยกตัวอย่าง เจ้ามรดกมีที่ดิน ๑ แปลงราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นสินส่วนตัว และมีสินสมรสเป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ขณะถึงแก่ความตายมีทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ ปู่ยา แม่ ลูก ๒ คน ภริยา และมีลุงป้าน้าอาอีกหลายคน โดยก่อนตายเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้
ทา่ยาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกในกรณีนี้คือ แม่ ลูกเจ้ามรดก ๒ คน และ ภริยา
รวมกันมีผูุ้รับมรดกทั้งหมด ๔ คน โดยแต่ละคนมีสิทธิรับมรดกคนละเท่าๆ กัน
แต่ก่อนนำทรัพย์มรดกมาแบ่งต้องจัดการสินสมรส สินส่วนตัวของเจ้ามรดกก่อน
ดังนั้น กรณีนี้ ต้องแบ่งสินสมรสให้ภริยาก่อน จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ที่เหลือเป็นทรัพย์มรดกของคนตาย คือ จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ทายาททั้งสี่คน จะได้ส่วนแบ่งคนละเท่าๆ กัน คือคนละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท
สรุป ภริยาคู่สมรสได้รับ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท
แม่ได้รับส่วนแบ่งมรดก ๕๐๐,๐๐๐ บาท
ลูก ๒ คน ได้รับส่วนแบ่ง ๕๐๐,๐๐๐ บาท
การแบ่งทรัพย์มรดก ตามสิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย ก็มีหลักเกณฑ์ประมาณ
ที่กล่าวข้างต้นครับ
แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับ
กฎหมายเพื่อความสุข
ทนายธีรวัฒน์ นามวิชา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น