คุกไทยมีไว้ขังคนจนจริงหรือ ??
คนจน แบบตายายเก็บเห็ดติดคุก 15 ปี
คนรวยขับรถชนคนตาย ทำไมรอลงอาญา
ใครเป็นผู้กำหนดให้เป็นเช่นนี้ ศาล อัยการ ตำรวจ ทนายความ ฝ่ายนิติบัญญัติ สส. สว. สนช.
หรือฝ่ายบริหาร ที่มีนายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบ หรือ เราๆ ทุกคนที่เป็นประชาชนคนธรรมดา
กฎหมายนั้นเขียนขึ้นโดยคน ไม่ใช่มาจากพระเจ้า เราจึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้
เช่นที่เป็นข่าวมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อแก้กฎหมาย ให้คดีข่มขืน ได้รับโทษประหารชีวิตทุกกรณี เป็นต้น
วันนี้ผมในฐานะทนายความตัวเล็กๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมน้้น ซึ่งไม่มีอำนาจเพียงพอท่ี่จะไปเเก้ไขกฎหมายได้
แต่ผมเชื่อมั่นในพลังของสังคม พลังของโซเชียลเน็ตเวิร์ค พลังของคนที่รักความเป็นธรรม ว่าเราสามารถส่งเสียงไปให้ผู้ที่มีอำนาจ
เปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมได้ ต่อไปจะได้ไม่มีคำว่า คุกมีไวัขังคนจน อีกต่อไป
ที่นี้กฎหมายที่ออกแบบเพื่อจับคนเขาคุกหรือเอาคนออกจากคุก หลักๆ ก็คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๓๑ บัญญัติไว้ว่า
"ให้การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายจะกระทำมิได้
เว้นแต่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย " ดังนั้น หลังจากมีรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว ทำให้มีการแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามมา
แต่ก็ยังไม่มีการแก้กฎหมายที่ทำให้คนจนเสียเปรียบต้องติดคุกอยู่นะคับ
โดยมีกฎหมายที่ทำให้คนจนติดคุก เสียเปรียบผู้มีอันจะกินในสังคมอยู่หลัก ๆ ก็คือ
คนจน คนไม่มีเส้นติดคุกก่อนศาลตัดสินว่าถูกหรือผิด และ
คนจน ติดคุกหลังศาลตัดสินแต่คนรวยรอดตัวแบบสบาย ๆ
คนจนติดคุกก่อนศาลตัดสินว่าถูกหรือผิด ก็คือ ติดคุกระหว่างศาลพิจารณาคดีคับ
๑. หมวดที่ ๓ ว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราว หรือที่ชาวบ้านเราเรียกว่า การประกันตัวนั้นเอง
ซึ่งตามมาตรา ๑๑๐ กำหนดไว้ว่า " ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราวต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วย
หรือไม่ก็ได้
วรรคสองในคดีอย่างอื่นจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้ "
และตามมาตรา ๑๑๑ " เมื่อจะปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย ก่อนที่จะปล่อยไป ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฎิญาณตนว่าจะมาตามนัด
หรือหมายเรียก "
ซึ่งจากกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าว ก็จะสรุปได้ว่า ถ้าเป็นโทษเล็กๆ น้อย ๆ ศาลก็สามารถให้จำเลยหรือผู้ต้องหาสาบานตัวว่าจะมาตามนัดแล้วปล่อยกลับ
บ้านได้ คนจนไม่มีเงินก็กลับบ้านได้ ไม่ต้องติดคุก รอก่อนค่อยตัดสินที่หลัง
แต่ตามมาตรา ๑๑๐ นั้นกลับกำหนดให้คดีที่มีโทษจำคุกเกินห้าปีขึ้นไป การปล่อยตัวชั่วคราวต้องมีหลักประกัน ซึ่งทำให้ศาลไม่สามารถให้จำเลยสาบานตัวแล้ว
กลับบ้านได้เหมือนคดีเล็กๆ น้อยๆ ได้ จึงทำให้คนจนต้องติดคุกเพราะไม่มีเงินมาประกันตัว
เพราะตามมาตรา ๑๑๔ " เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยให้มีประกันและหลักประกันด้วย ก่อนปล่อยตัวไป ให้ผู้ร้องขอประกันจัดหาหลักประกันมาดังต้องการ
ซึ่งหลักประกันมี ๓ ชนิด ดังนี้
- มีเงินสดมาวาง
- มีหลักทรัพย์อื่นมาวาง
- มีบุคคลมาเป็นหลักประกัน โดยเเสดงหลักทรัพย์
จากกฎหมายดังกล่าวทำให้คนจน คนไม่มีเส้นต้องติดคุก เพราะไม่มีเงินมาประกันตัว และหาบุคคลมาประกันตัวให้เขาก็ไม่มาให้
ส่วนคนชั้นกลาง หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินสด ไม่มีหลักทรัพย์ จำพวกโฉนดที่ดิน ก็ต้องไปหาหยิบยื่ม หรือกู้หนี้นอกระบบ ร้อยละ ๓ หรือ๕ ต่อเดือน
เพื่อเอาเงินมาเช่าหลักทรัพย์จากหน้าประกันอาชีพต่อไป
ส่วนคนรวยนั้น ก็สบายๆ หาเงินหาหลักทรัพย์มาประกันตัวได้อยู่แล้วครับ
อีกทั้งความเลื่อมล้ำในสังคมทำให้เงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ของคนหาเช้ากินค่ำ คนชั้นกลาง กับเศรษฐี มหาเศรษฐี นั้นมีคุณค่าต่างกัน
เพราะ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ของมหาเศรษฐี อาจเป็นเพียงค่าอาหารเพียงมื้อเดียว ส่วน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ของคนจน คือค่าอาหารทั้งปีของครอบครัว
ดังนั้นจึงไม่เเปลกที่คนจน คนไม่มีเส้นต้องติดคุก เพราะไม่มีเงินมาประกันตัว และไม่มีใครมาประกันตัวให้....
คำถามก็คือ ทำไมเราต้องใช้เงินมาเป็นหลักประกันด้วยว่าเขาจะไม่หนี ?
ทั้งที่ความจริงแล้วคนที่เขาจะหนี ต่อให้ใช้วงเงินมากเท่าไหรเขาก็หนี
คนจนที่ไม่หนี เขาก็เขามอบตัวต่อตำรวจโดยดีตลอดมา...แต่ไม่มีเงิน จึงต้องติดคุก...หรือคับ
ทำไมเราไม่ออกเเบบกฎหมายไทยใหม่ ไม่ใช้เงินเป็นที่ตั้งในการปล่อยตัวชั่วคราวบ้างละคับ ??
เช่น ในความคิดเห็นของผมนะคับ เมื่อเรากลัวว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหนีนะคับ..
เราก็มา่ดูว่าเขาหนีคดีเพราะอะไร ? เพราะเขาคิดว่าเขาหนีประกันแล้วจะทำให้คดีขาดอายุความหรือเปล่า ?
ถ้าใช่เราอาจมาแก้กฎหมายใหม่ กำหนดให้คนที่หนีคดีในชั้นประกันตัว ไม่ให้คดีขาดอายุความ และถ้าจับตัวได้
ก็ไม่มีสิทธิประกันตัวอีกต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เพื่อเป็นการลงโทษคนที่หนีไม่ดีกว่าหรือคับ...ดีกว่าขังคนจนบริสุทธื์ไว้
และที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องว่าศาลต้องให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนนะคับ
เพียงแต่อยากให้ตัดประเด็น เรื่อง " ความเชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด" ตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาล
ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๑๐๘ (๔) ส่วนหลักเกณฑ์อื่นยังขอให้คงเดิม เช่นความหนักเบาแห่งข้อหา พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร หรือเป็นผู้มีอิทธิพล
ปล่อยไปเเล้วอาจไปข่มขู่พยานได้
เพราะเมื่อคนจนไม่มีหลักประกันหรือหลักประกันไม่น่าเเชื่อถือ เช่น ที่ดินไม่ติดทางสาธารณะ ศาลบางท่านก็ยกคำร้องได้โดยให้เหตุผลว่า
หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ ไม่สะดวกแก่การบังคับคดีเป็นตน.. สุดท้ายคนจนก็ติดคุกคับ หรือไปจ้างนายประกันอาชีพให้หาหลักทรัพย์มาให้
และในส่วนที่สอง
คนจน ติดคุกหลังศาลตัดสินแล้วแต่คนรวยรอดตัวแบบสบาย ๆ
ก็คือในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับนะครับ
เมื่อศาลพิพากษาว่าทำผิดจริง แต่โทษจำคุกให้รอการลงอาญาไว้ และให้ชำระค่าปรับจำนวน......บาท
ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้ขังแทนวันละ ๒๐๐ บาท
ผลก็คือคนจนไม่มีเงินชำระค่าปรับ ก็ติดคุกซิครับ ติดคุกแทนค่าปรับ
ส่วนคนรวยไม่ติดคุกเพราะมีเงินชำระค่าปรับคับ สบายๆๆ
ความจนมันน่ากลัวนะคับ...
อันนี้ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่เขียนไว้นะคับ ยุติธรรมคับแต่คนจนเสียเปรียบคนรวย
และที่เป็นปัญหา เพราะคนจนเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เลยทำให้มีคนติดคุกเพราะไม่ได้ประกันตัวเต็มคุกคับ
สุดท้ายกฎหมายเเก้ได้ครับผม เขาบอกว่า " คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก "
และผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนดี เป็นคนที่รักความยุติธรรม และผมเชื่อว่าประชาชนคนธรรมดาก็มีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมได้
เราทุกๆ คนทำได้ด้วยปลายนิ้ว เพียงแต่ท่านช่วยแชร์ บทความนี้ หรือเสนอแนะให้ผู้มีอำนาจในสังคมได้เห็น เพื่อสังคมไทยที่ดีขึ้น
ต่อไปจะได้ไม่มีคำว่า " คุกไทยมีไว้ขังคนจน " อีกต่อไป
แต่ถ้าท่านอ่านแล้ว หลับตาข้างหนึ่งทำเป็นมองไม่เห็นความไม่ยุติธรรมในสังคมไทย ก็ตัวใครตัวมันครับ...
เวลาคนรวยทำผิดแล้วไม่ติดคุก ก็ไม่ต้องมีอารมณ์นะครับ ว่าคุกมีไว้ขังคนจน
แล้วไปโทษศาลว่าไม่ยุติธรรม เมื่อกฎหมายมันว่าอย่างนั้น แล้วศาลจะไม่ไปตามกฎหมายได้อย่างไรครับผม..
เพราะเราทุกคนเป็นคนเลือกเอง ที่จะให้มันเป็นอยู่เช่นนั้นเอง
แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปนะคับ
ทนายธีรวัฒน์ นามวิชา