เมื่อการร้องครอบครองปรปักษ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เจ้าของที่ดิน หรือทายาท ก็สามารถร้องคัดค้านการครอบครองปรปักษ์ได้ครับ
เมื่อคัดค้านแล้ว จากโฉนดที่ดิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ก็มีค่าเพียงถุงกล้วยเเขกครับ
ดังเช่น คดีที่ดินวัดสวนแก้ว ที่หลวงพ่อพยอม ท่านทำไว้เป็นกรณีศึกษาเตือนใจครับ
กรณีคดีที่ดินวัดสวนแก้ว เป็นกรณีที่น่าศึกษาสำหรับนักกฎหมาย นักเรียนกฎหมาย และสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายมรดก การร้องครอบครองปรปักษ์ การคัดค้านการครอบครองปรปักษ์ การขอพิจารณาคดีใหม่ การขอเพิกถอนนิติกรรม การติดตามเอาทรัพย์มรดกคืน อายุความติดตามเอาทรัพย์มรดกคืน ทางแก้เมื่อการซื้อขายที่ดินวัดสวนแก้วตกเป็นโมฆะถูกเพิกถอน และยังเกี่ยวกับเรื่องมูลนิธิ นิติบุคคลอีก
วันนี้กระผม ทนายธีรวัฒน์ นามวิชา จึงขอนำคดีเรื่องที่ดินวัดสวนแก้ว แปลงดังกล่าวมาเป็นกรณ๊ศึกษาครับ
ข้อเท็จจริงคดีที่ดินวัดสวนแก้ว มีที่มาประมาณนี้ครับ
นานมาแล้ว คุณแม่ของป้าวรรณได้ไปขอเช่าหรือขออาศัยหรือโดยวิธีอื่นไม่แน่ชัด ในที่ดินของคุณแม่ทองอยู่...ต่อมาคุณแม่ทองอยู่ก็ถึงแก่ความตาย ที่ดินตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทของคุณแม่ทองอยู่
แต่หลังจากคุณแม่ทองอยู่ตาย ป้าวรรณและครอบครัวก็ยังคงครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมา
ต่อมาปี่ พ.ศ. ๒๕๒๘ ทายาทของคุณแม่ทองอยู่ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาล และศาลมีคำสั่งแต่งตั่งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว แต่อาจจะเป็นเพราะแม่ทองอยู่มีที่ดินอยู่มากมาย ทำให้ทายาทไม่ทราบว่าแม่ทองอยู่มีที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ จึงไม่ได้ทำอะไรกับที่ดินแปลงดังกล่าว ปล่อยให้ป้าวรรณครอบครองเรื่อยมา
ผ่านมานาน ป้าวรรณครอบครองที่ดินแปลงนี้แต่ยังไม่ได้โฉนด ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ในปี พ.ศ.๒๕๔๖
ป้าวรรณคงได้รับคำแนะนำจากคนอื่น ให้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินแปลงพิพาทนี้ เพื่อที่จะได้ที่ดินแปลงนี้เป็นของตน จึงได้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ต่อศาล
แต่มีข้อผิดผลาดก็คือไม่ได้มีการส่งหมายโดยชอบด้วยกฎหมายให้กับทายาทของคุณแม่ทองอยู่ ทำให้คดีนี้ไม่มีผู้ใดมาโต้แย้งคัดค้านการร้องครอบครองปรปักษ์ ฝ่ายป้าวรรณจึงนำสืบพยานไปฝ่ายเดียว..ซึ่งเป็นเรื่องปรกติอยู่แล้วที่ฝ่ายป้าวรรณ คงนำสืบแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์กับตนให้เข้าข้อกฎหมายเรื่องครอบครองปรปักษ์ เช่นเดียวกับคดีอื่นๆ ถ้าสืบคดีไปฝ่ายเดียวก็คงสืบเข้าข้างฝ่ายตนเป็นเรื่องปรกติ คงไม่มีใครสืบคดีให้ศาลยกฟ้อง ไม่เว้นแม้แต่ท่านอัยการที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐครับผม..
เมื่อสืบคดีฝ่ายเดียวทำให้ศาลหลงเชื่อตามพยานหลักฐานที่ป้าวรรณนำสืบว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ จึงมีคำสั่งให้ป้าวรรณได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว
หลังจากนั้นป้าวรรณจึงนำคำพิพากษาเดินขึ้นสำนักงานที่ดินเพื่อไปขอออกโฉนด ( ใบแทน ) เพื่อจดทะเบียนเป็นซื่อป้าวรรณตามคำพิพากษาต่อไป
และป้าวรรณได้มีการแบ่งแยกโฉนดออกเป็น ๒ แปลง และได้นำที่ดินแปลงหนึ่งมีเนี้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๑ งาน ๕๕ ตารางวา มาขายให้มุลนิธิสวนแก้ว จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทในปี พ.ศ.๒๕๔๗
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ทายาทของแม่ทองอยู่ ได้มาใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์มรดกคืน โดยมีการขอพิจารณาคดีใหม่ คัดค้านการร้องขอครอบครองปรปักษ์ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่ามีการส่งหมายโดยไม่ชอบและไม่ใช่เป็นการครอบครองปรปักษ์ แต่เป็นการครอบครองตามสัญญาเช่า พร้อมกับฟ้องข้อหาเบิกความเท็จ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาด้วย
และจุดสำคัญของคดีคือป้าวรรณไปยอมรับว่า มีการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวจริง ส่วนที่มาที่ไปของการยอมรับดังกล่าวจะเป็นมาอย่างไรทนายก็ไม่ทราบเมื่อกัน ว่ามีการตกลงสมยอมทางคดีเพื่อให้คดีจบๆกันไปก็ไม่ทราบ แต่เมื่่อป้าวรรณไม่สู้คดี ยอมรับว่าเป็นการเช่า คดีก็จบครับ ถือว่าไม่ใช่เป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่ถือเป็นการครอบครองปรปักษ์ แม้ป้าวรรณและครอบครัวจะครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวมานานแสนนานก็ตาม...
หลังจากนั้นทายาทของแม่ทองอยู่จึงได้ฟ้องขอเพิกถอน นิติกรรมการซื้อขายที่ดินกับวัดสวนแก้ว ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน วัดสวนแก้วแพ้คดีตามระเบียบ ตามข้อกฎหมาย
คดีวัดสวนแก้วสิ้นสุดในปี พ.ศ.๒๕๕๐ แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึงมีการฟ้องคดีและระหว่างสู้คดีอยู่นั้นวัดสวนแก้วก็ยังคงครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวเรื่อยมา
จนถึงปี พ.ศ.๒๕๕๙ ทางวัดสวนแก้วนับระยะเวลาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ ถึงปี พศ.๒๕๕๙ เป็นระยะเวลากว่า ๑๒ ปีแล้วที่ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว ทางวัดน่าจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ ทางวัดสวนแก้วจึงได้ยื่นเรื่องขอครอบครองปรปักษ์ต่อศาล
ต่อมาเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ ศาลชั้นต้นได้มีคำตัดสินให้วัดสวนแก้วแพ้คดีเนื่องจาก นับระยะเวลาแล้วทางวัดสวนแก้วครอบครองปรปักษ์ยังไม่ครบ ๑๐ ปี เพราะมีการหักระยะเวลาช่วงที่มีคดีความออกไปครับ
ปัจจุบันคดีวัดสวนแก้วยังอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์ โดยทางวัดสวนแก้วสู้ประเด็นว่าครอบครองครบ ๑๐ ปี แล้วเพราะมูลนิธิสวนแก้ว กับวัดสวนแก้ว เป็นนิติบุคคลคนละคนกัน ไม่เกี่ยวกัน ไม่ได้เป็นคดีด้วย ซึ่งเป็นคดีที่น่าสนใจ รอติดตามชมตอนต่อไปว่าศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะตัดสินว่าอย่างไรครับผม..
จากคดีวัดสวนแก้วดังกล่าว
ทำให้เพื่อนๆ ทราบประเด็นข้อต่อสู้คัดค้านการครอบครองปรปักษ์อะไรบ้างคับ
คดีแรก ป้าวรรณร้องครอบครองปรปักษ์ ตอนต้นศาลตัดสินไปแล้วคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ป้าวรรณชนะ ป้าวรรณเอาที่ไปขายจดทะเบียนบนสำนักงานที่ดินให้มูลนิธิสวนแก้วเรียบร้อยแล้ว
ทนายความของทายาทแม่ทองอยู่สู้ เรื่องการพิจารณาผิดระเบียบ ส่งหมายไม่ชอบ ขอพิจารณาคดีใหม่ ไม่ใช่เป็นการครอบครองปรปักษ์ แต่เป็นการครอบครองตามสัญญาเช่า
และมีการฟ้องคดีอาญาฐานเบิกความเท็จอีกข้อหาหนึ่งด้วย
สุดท้ายคดีนี้ป้าวรรณไม่สู้คดี ยอมรับว่าเช่าที่จริง ทายาทแม่ทองอยู่ชนะคดี
คดีที่สอง วัดสวนแก้วร้องขอครอบครองปรปักษ์ ทางทนายทายาทแม่ทองอยู่ก็คงสู้ประเด็นเรื่องเป็นการครอบครองโดยไม่สงบ ระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ยังไม่ถึง ๑๐ ปี ครับ
ซึ่งสุดท้ายทางวัดสวนแก้วก็แพ้คดีในศาลชั้นต้นเพราะนับระยะเวลาหลังจากคดีสิ้นสุดแล้วยังไม่ถึง ๑๐ ปี จึงไม่ครบองค์ประกอบของกฎหมายว่าด้วยการครอบครองปรปักษ์ครับ...
สรุป ข้อต่อสู้การคัดค้านการครอบครองปรปักษ์ ก็สู้ตามประเด็นกฎหมาย มาตรา 1382 คือ ยังไม่ครบไม่เข้าองค์ประกอบของกฎหมายของการครอบครองปรปักษ์คับ ก็คือ
๑. เป็นการครอบครองโดยไม่สงบ เช่นกรณีดังกล่าว เพราะเป็นคดีความกันอยู่ เป็นการครอบครองที่ดินระหว่างเป็นคดีความกันอยู่ ถือว่าครอบครองโดยไม่สงบครับ
๒.ไม่ใช่เป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เช่นคดีแรก ครอบครองตามสัญญาเช่า หรือเป็นกรณีให้อาศัย ขอทำกิน ให้ทำกินต่างดอกเบี้ย ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หรือครอบครองระหว่างเป็นคดีความกัน ถือว่าเป็นการครอบครองแทนฝ่ายที่ชนะคดี เพราะบางคดีกว่าคดีจะสิ้นสุดถึงชั้นฎีกา ก็ใช้ระยะเวลากว่า ๑๐ ปีก็ได้
๓. ระยะเวลาครอบครองยังไม่ถึง ๑๐ ปี เช่น กรณีที่สองของวัดสวนแก้ว นับระยะเวลาแล้วยังไม่ถึง ๑๐ ปี วัดสวนแก้วก็แพ้คดีครับ หลวงพ่อพยอมท่านน่าจะใจเย็นรออีกสัก ๒ ปี จึงมาฟ้องน่าจะมีโอกาสชนะมากกว่า...เพราะครบ ๑๐ ปี หลังจากคดีแรกจบ...แต่ก็ด้วยความเคารพในมุมมองกฎหมายของวัดสวนแก้วครับ
๔.สู้การครอบครองปรปักษ์ด้วยหลัก เป็นบุคคลภายนอก สุเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนโดยสุจริต ่ตามมาตรา 1299 วรรคสองตอนท้ายครับ คือขายให้บุคคลภายนอกและจดทะเบียนโอนไปซะ เพราะผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน สู้บุคคลภายนอกไม่ได้ครับ...
แต่ย้ำนะครับว่าต้องเป็นบุคคลภายนอก ที่เสียค่าตอบแทน จดทะเบียนโดยสุจริตครับ
ส่วนการยื่นคำให้การต่อสู้คดีคัดค้านการร้องครอบครองปรปักษ์ ก็ต้องยื่นก่อนหรือภายในวันนัดไต่สวนคำร้องครอบครองปรปักษ์นะครับ
แต่ถ้าการร้องครอบครองปรปักษ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ยื่นภายหลังก็ได้ครับ ดังเช่น คดีครอบครองปรปักษ์คดีแรกระหว่างทายาทกับป้าวรรณครับ..
สุดท้ายหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านไม่มากก็น้อยนะครับ
อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ นะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับ
กฎหมายเพื่อความสุข เนรมิตชีวิตที่ดีกว่า เพื่อชาวบ้าน
ทนายธีรวัฒน์ นามวิชา