ข่าวดัง คดีการเพิกถอนการครอบครองปรปักษ์ที่ดินวัดสวนแก้ว
เนื่องด้วยเมื่อว้นที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ หลวงพ่อพยอม
ได้ร้องขอเป็นธรรมกับคุณควีน แหม่มโพธิ์ดำ
เรื่องคดีวัดสวนแก้ว เกี่ยวกับการที่วัดร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่ซื้อมาแล้วโดนเพิกถอนนิติกรรม
จนกลายมาเป็น " โฉนดที่ดินกล้วยแขก "
วันนี้กระผมทนายธีรวัฒน์ นามวิชา กฎหมายเพื่อความสุข กฎหมายเพื่อชาวบ้าน จึงขอมาพูดถึงหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ เพื่อจะมีประโยชน์กับเจ้าของที่ดิน ผู้ครอบครองที่ดินผู้อื่นอยู่แต่ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ หรือประชาชนทั่วไปครับ..
เมื่อการนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างมูลนิธิสวนแก้ว ตกเป็นโมฆะ ถูกเพิกถอน กรรมสิทธิ์ในที่ดินตกกลับไปเป็นของทายาทของนางทองอยู่เช่นเดิม การร้องครอบครอบปรปักษ์ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้วัดสวนแก้วได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวอีกครั้ง
การครอบครองปรปักษ์เป็นการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ตามมาตรา 1299 วรรคสอง ครับผม
.การครอบครองปรปักษ์ หมายถึง การครอบครองที่ดินของผู้อื่นเพื่อเจตนาอยากได้เป็นเจ้าของตนเองครับ..
การครอบครองปรปักษ์ที่ดิน ตา่มมาตรา 1382 สรุปหลักเกณฑ์ได้ว่า " บุคคลใดครอบครองที่ดินของผู้อื่นไว้โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ได้ครอบครองที่ดินติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นไปครับ"..
สรุปหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ที่ดิน ตามมาตรา 1382 ได้ดังนี้
๑. บุคคล หมายถึง บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล วัดสวนแก้วมีฐานะเป็นนิติบุคคลจึงร้องขอครอบครองปรปักษ์ได้ เทียบเคียงตามฎีกาที่ ๑๔๗๙-๑๔๘๐/๒๕๒๔
๒.ทรัพย์สิน ทีี่ดินต้องเป็นของผู้อืน และที่ดินที่จะร้องครอบครองปรปักษ์ต้องมีกรรมสิทธิ์คือ มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน ถ้าเป็นที่ดินมือเปล่า ที่ดินตาม สค.๑ หรือ ตาม น.ส.๓ นั้นมีเพียงสิทธิืครอบครอง จึงไม่สามารถร้องขอครอบครองปรปักษ์ได้ เพราะเจ้าของเดิมยังไม่มีกรรมสิทธิ์ คนครอบครองจึงไม่มีสิทธิ์ดีกว่าเจ้าของเดิมครับ...
๓.การครอบครองปรปักษ์ ต้องเป็นการครอบครองโดยสงบและเปิดเผย ไม่ถูกโต้แย้ง ถูกฟ้อง ถูกแจ้งความดำเนินคดี และการครอบครองที่ดินระหว่างที่เป็นความกันไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยสงบ เทียบเคียงฎีกาที่ ๑๕๓๑/๒๕๒๕
และตัวอย่างกรณีวัดสวนแก้วที่มีการซื้อที่ดินมาและได้ครอบครองที่ดินมาตั้งแต่ปี พศ.๒๕๔๗ แต่มาถูกฟ้องเพิกถอนนิติกรรมเรียกที่ดินคืน ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ คดีมาถึงที่สุดปี ๒๕๕๐ ถือว่าระหว่างที่เป็นคดีกันถือว่าเป็นการครอบครองโดยไม่สงบ ต้องนับระยะเวลาใหม่นับแต่คดีถึงที่สุดเป็นต้นไปอีกสิบปี
๔.การครอบครองปรปักษ์ ต้องเป็นการครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ แปลง่ายๆ คือทำตัวเป็นเจ้าของที่ดินหรือบ้านดังกล่าว บ้านพังชำรุดก็ต้องซ่อมแซม มีการหวงห้ามขัดขวางผู้อื่นไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินของตน
และการครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่ใช่เป็นการครอบครองแทน ครอบ หรือครอบครองโดยอาศัยสิทธิ์หรือยอมรับสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินนั้น เช่น ครอบครองที่ดินตามสัญญาเช่า ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ตามสัญญากู้ยืมเงินให้ทำกินต่างดอกเบี้ย ตามที่เขาอนุญาตให้อาศัยอยู่ให้ทำกิน
ถ้าเป็นการครอบครองแทน ต้องมีการแจ้งเปลี่ยนเจตนาไปยังเจ้าของหรือทายาทก่อนว่าต้องการที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของตน เช่นไม่จ่ายค่าเช่า ไม่ให้ไถ่ถอน อ้างว่าขายขาดแล้ว..
๕.ระยะเวลาในการครอบครองปรปักษ์ ต้องเป็นการครอบครองทำประโยชน์ในทีิดินติดต่อกัน ๑๐ ปีขั้นไป
จึงจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยนับระยะเวลาของผู้ครอบครองทำประโยชน์เป็นหลักว่าครบ ๑๐ ปีหรือยังโดยไม่ต้องดูว่าที่ดินจะมีการโอนไปให้ผู้อื่นหรือไม่ก็ตาม ถ้าครบ ๑๐ ปี ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
จากตัวอย่างกรณีทีี่วัดสวนแก้วร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดิน โดยทางวัดสวนแก้วนับระยะเวลาตั่งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๗ ที่วัดสวนแก้วซื้อที่ดินมาจนถึงปี ๒๕๕๙ ที่วัดสวนแก้วร้องขอครอบครองปรปักษ์จึงเป็นระยะเวลากว่า ๑๒ ปี แล้ว แต่เมื่อหักระยะเวลาที่เป็นคดีความกันในปี ๒๕๔๙ ถึงปี ๒๕๕๐ ทำให้ระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ของวัดสวนแก้วไม่ครบ ๑๐ ปีื ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้วัดสวนแก้วแพ้คดีไป
โดยปัจจุบัน วัดสวนแก้วได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว เป็นประเด็นข้อกฎหมายว่าวัดสวนแก้ว ไม่เกี่ยวกับมูลนิธิสวนแก้ว จึงไม่ได้เคยมีเรื่องกัน ไม่ได้เป็นคู่ความในคดี ระยะเวลาจึงเกิน ๑๐ ปีแล้ว
ซึ่งผมว่า คดีนี้ก็เป็นกรณีศึกษาต่อไปครับว่าศาลอุทธรณ์และถ้ามีการฎีกา ศาลฎีกาจะตัดสินออกมาอย่างไร ?? ต้องติดตามตอนต่อไปครับผม...
สรุปหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ มาตรา 1382 ก็มีหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวมาครับผม...
สุดท้าย ที่ดินมีราคา ดูแลดีดีนะครับ..ถ้าถูกคนอื่นครอบครองปรปักษ์ ก็ยังมีทางแก้นะครับ
ติดตามในบทความต่อไปครับผม...
กฎหมายเพื่อความสุข
ทนายธีรวัฒน์ นามวิชา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น