รถยนต์ท่ี่เช่าซื้อหาย ต้องทำอย่างไร ??
รถยนต์หาย ทำไงดี ? รถยนต์หาย ผ่อนต่อไหม ?
รถยนต์ที่เช่าซื้อหาย ประกันหมดพอดี ทำไง ? ติดต่อไฟแนนซ์แล้วเค้าบอกให้ผ่อนกุญแจต่อไป....
ผมก็สงสัยทำไมรถต้องมาหายตอนประกันหมดพอดี ซนกันตอนประกันหมดพอดี ?
ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกฎหมายก่อนนะคับ ว่ากฎหมายให้อำนาจไฟแนนซ์ สั่งให้เราผ่อนลูกกุญแจต่อไปหรือเปล่า ?
สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ คืออะไร ?
ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๒ คือ สัญญาซึ่งเจ้าของทรัพย์เอาทรัพย์สิน ( รถยนต์ ) ออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้น ( รถยนต์ ) ตกเป็นของสิทธิของผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราวสัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ
ที่นี้ถ้าถ้าพูดภาษาชาวบ้าน ให้เข้าใจง่าย ๆ สัญญาเช่าซื้อ ก็คือ สัญญาเช่ารถยนต์ บวกกับ สัญญาว่าเมื่อจ่ายค่างวดและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ครบแล้ว ให้รถยนต์ตกเป็นของผู้เช่าซื้อรถยนต์
และในปัจจุบัน สคบ. กำหนดให้รถยนต์ต้องตกเป็นของผู้เช่าซื้อทันที เมื่อจ่ายค่างวดครบถ้วนรวมทั้งเงินจำนวนอื่นใดที่กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว และกำหนดให้ไฟแนนซ์ต้องไปดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื่้อให้เป็นซื่อของผู้เช่าซื้อภายใน ๓๐ วัน....
ที่นี้เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อหาย จะทำยังไงดี
ตามกฎหมายก็เขียนไว้ยุติธรรมดี ครับตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๖๗ " ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปทั้งหมดไซร้ ท่านว่าสัญญาเช่าก็ย่อมระงับไปด้วย"
และตามมาตรา ๕๖๒ " ผู้เช่าจะต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่า เพราะความผิดของผู้เช่าเองหรือของบุคคลซื่งอยู่กับผู้เช่าหรือของผู้เช่าช่วง
แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์สินนั้นโดยชอบ
ก็คือกฎหมายคิดว่าเพื่อความยุติธรรม เมื่อรถยนต์หาย คนผ่อนก็ไม่ได้ใช้รถยนต์แล้ว ก็ไม่ควรต้องผ่อนกุญแจต่อไป การให้ต่างคนต่างไปถือว่าสมควรแล้ว ที่่นี้ค่าเสียหาย ถ้ารถยนต์ที่เช่าซื้อหาย เราในฐานะผู้เช่าซื้อจะรับผิดชอบเมื่อเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ เช่นไปจอดรถยนต์ในซอยเปลี่ยว ที่ไม่ปลอดภัย ไม่ระมัดระวังให้ดี เราต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่รถหาย แต่ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่า ใครๆ ก็จอดแถวนี้ ไม่เห็นหาย ปลอดภัยดี เราจึงจอดตาม เราก็ควรไม่ต้องรับผิดชอบ ถือว่าเราดูแลดีแล้วตามมาตรฐานของชาวบ้านทั่วไปที่ดูแลรถยนต์ของตัวเอง
แต่กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น .....ใครกล่าวไว้ ผมก็ไม่ทราบ
เมื่อบริษัทไฟแนนซ์ ได้รับคำแนะนำจากนักกฎหมายผู้ชาญฉลาดว่า " กฎหมายข้อนี้....มาตรา ๕๖๒ ยกเว้นได้นะเพราะไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ....เขียนในสัญญาได้ไม่มีปัญหา
เมื่อได้รับคำแนะนำดังกล่าว บริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ จึงพร้อมใจกัน เขียนข้อยกเว้นความรับผิดในกรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อหาย สูญหาย เสียหาย ถูกยึด ถูกอายัติ หรือถูกริบ ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง ตาม มาตรา ๕๖๗ ส่วนความรับผิด ให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบตามสัญญาเช่าชื้อที่ค้างชำระทั้งหมดทันที ไม่ว่ารถยนต์ที่หายจะเป็นความผิดของผู้เช่าชืิ้อหรือไม่ก็ตาม คือให้รับผิดทุกกรณี ปิดปากไว้ไม่ให้โต้แย้งตามสัญญา ( ยกเว้นกฎหมายมาตรา ๕๖๒ )
เมื่อรถยนต์หาย เราไม่ผ่อนต่อ ไฟแนนซ์ฟ้อง ศาลจะว่าอย่างไร ?
ในอดีตในยุคที่ยังไม่มี พระราชบัญญัติว่าด้วยขอสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.๒๕๔๐ สคบ. ยังไม่เกิด ่ทนายความของจำเลย ( ผู้เช่าซื้อรถยนต์ ) ก็ไม่อาจยกข้อต่อสู้ว่าข้อสัญญาที่เราไปตกลงไว้ว่าให้เรายอมรับผิดทุกกรณีที่รถยนต์เช่าซื้อหาย ขัดต่อกฎหมายใช้บังคับไม่ได้ เพราะสัญญาเช่าซื้อปิดปากไว้ ต่อสู้ได้เพียงเเค่ว่า จะรับผิดเพียงใด เพราะศาลถือว่าค่าเสียหายทั้งหมดที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดทั้งหมดทันทีที่สัญญาสิ้นสุดลง ถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลมีอำนาจพิจารณาว่าจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ โดยพิจารณาว่าบริษัทไฟแนนซ์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายอะไรไปบ้างแล้ว ได้รับชดใช้ค่าเสียหายครบถ้วนแล้วหรือยัง เช่น รถยนต์ที่เช่าซื้อมีประกันภัย บริษัทไฟแนนซ์เรียกร้องค่าเสียหายแล้ว ได้ครบถ้วนพอสมควรแล้ว จะมาเรียกร้องให้เราชำระค่าเช่าซื้อต่อไปไม่ได้ ถ้าเราชำระไปโดยไม่รู้ก็สามารถฟ้องเอาคืนพร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ได้นะครับ
ที่นี้ถ้ารถหาย ระหว่างเช่าซื้อยุค สคบ. ไม่ได้เป็นเสือกระดาษแล้ว
ก็๋คือก่อนหน้านั้น ยังไม่มี พระราชบัญญัติว่าด้วยขอสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.๒๕๔๐ สคบ. ยังไม่เกิด ยังไม่มีคดีผู้บริโภค ผู้เช่าซื่้อรถยนต์ หรือผู้บริโภค ทั่ว ๆ ไป ก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการซึ่งมีความรู้ มีอำนาจต่อรองที่มากกว่า ด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เขียนยกเว้นข้อกฎหมายต่างๆ ที่ออกเเบบมาดูดีแล้ว ( เนื่องจากเเต่เดิมรัฐถือว่าการทำนิติกรรมต่างหรือสัญญาต่างๆ มีพื้นฐานมาจากเสรีภาพของบุคคลตามหลักของความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงแม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่จะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรืยบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน )
ทำให้บริษัทไฟแนนซ์ ผู้ประกอบการต่างๆ ที่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือกว่า ถือโอกาสอาศัยหลักดังกล่าวเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจด้อยกว่าอย่างมาก ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่สงบสุขในสังคม
และต่อมาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๓ และ พ.ศ. ๒๕๕๕
ทำให้บริษัทไฟแนนซ์และลีสซิ่ง ไม่สามารถเชือดลูกค้าได้หวานหมูอีกต่อไป ทำให้ปัญหาว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลาย ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบ ระหว่างเช่าซื้อโดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชอบค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนตามสัญญาอีกต่อไป ไชโย.....
สรุป ถ้าสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ทำขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ แล้วรถยนต์หาย โดยไม่ใช่ความผิดของเรานะครับ เราก็ไม่ต้องผ่อนกุญแจต่อแต่อย่างใด ด้วยข้อกฎหมายดังกล่าว...นะครับ ยกเว้นไม่รู้ โดยฟ้องแล้ว ไปไม่เป็น ก็ต้องรับผิดตามฟ้องไปครับ.....
บทความนี้อ้างข้อกฎหมายมากไปหรือเปล่า แต่คิดว่ารู้ไว้ดีกว่าคับ จะได้คุยกับนักกฎหมาย ผู้ทวงหนี้ ได้ทันเขา....
แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปคับ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น