วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เขตอำนาจศาล เขตอำนาจศาลแพ่ง หลงทางเสียเวลา หลงศาลแพ้คดี

ก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาล ต้องดูก่อนว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลไหน ?

หลงทางเสียเวลา หลงเขตอำนาจศาลเเพ้คดี เสียเชิงทนายความ...



ภาพ เขตอำนาจศาลจังหวัดกันทรลักษ์- ศาลจังหวัดศรีสะเกษ


สวัสดีครับ แฟนเพจทุกท่าน ผมทนายธีรวัฒน์  นามวิชา ทนายความจังหวัดศรีสะเกษ กับบทความกฎหมายเพื่อความสุข ทำหน้าที่เป็นทนายความปลดทุกข์ ให้กับคนที่มีความทุกข์ใจทุกท่าน...

กฎหมายเพื่อความสุข วันนี้ขอเสนอกฎหมายว่าด้วยเขตอำนาจศาล

เขตอำนาจศาล แค่ทนายยื่นฟ้องผิดศาล ก็แพ้คดีแล้ว...

เพราะการยื่นฟ้องผิดศาล ศาลจะไม่รับฟ้อง หรือถ้าศาลรับฟ้องไว้โดยผิดหลง ศาลก็จะสั่งจำหน่ายคดีหรืออาจยกฟ้องเสีย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีได้ถ้าฟ้องผิดศาล...

เนื่องจากศาลที่ไม่มีเขตอำนาจหนื่อคดีย่อมไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดี

การจะดูว่าคดีใดจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดนั้น นอกจากจะดูตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลต่างๆ แล้วยังต้องดูตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒ ถึง มาตรา ๔ ด้วย

ซึ่งศาลในประเทศไทยเเบ่งศาลออกเป็น ๓ ชั้นศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธํรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งการนำเสนอคดีในครั้งแรกต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น ถ้าคู่ความไม่พอใจคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ และฎีกาได้ ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา...

ศาลชั้นต้นได้แก่ ศาลจังหวัด ศาลแขวง ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแรงงาน ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลล้มละลาย ศาลปกครอง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลภาษี เป็นต้น...

เขตอำนาจศาล มีเรื่องแล้ว จะขึ้นศาลไหน 
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๔ - มาตรา ๑๐

หลักตามมาตรา ๔

( ๑ ) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น

( ๒ ) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นหรือต่อศาลทีี่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาในเขตศาล

ซึ่งให้อำนาจโจทก์เลือกได้ว่าจะฟ้องศาลไหนระหว่างศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ซึ่งส่วนมากโจทก์ก็จะเลือกฟ้องที่ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดหรือมีพยานหลักฐานพร้อมมากกว่า...

แต่เขตอำนาจศาล คดีผู้บริโภค  เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภค ในความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เดินทางมาศาล กฎหมายจึงกำหนดให้ยื่นฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะฟ้องคดี...

คดีผู้บริโภค ก็ประเภทคดีผู้บริโภคกับผู้ประกอบการ เช่น คดีบัตรเครดิต คดีเช่าซื้อ คดีเงินกู้ เป็นต้น...

คดีร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดิน ตามมาตรา ๑๓๘๒ เขตอำนาจศาล คือศาลที่ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่เพราะถือว่ามูลคดีเกิดขึ้น ณ ที่ดินซึ่งมีการครอบครองปรปักษ์

คดีร้องเป็นผู้จัดการมรดก ตามมาตรา ๔ จัตวา  เขตอำนาจศาล คือ ศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย....ส่วนในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่...เพื่อประโยชน์และความยุติธรรมแก่ทายาท เพราะถ้ากำหนดให้ยื่นได้ที่ภูมิลำเนาของผู้ร้องตามมาตรา ๔ ทำให้ทายาทต่างคนต่างก็ยื่นที่ศาลที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ เช่น ทายาทคนหนึ่งยื่นศาลจังหวัดศรีสะเกษ อีกคนยื่นที่จังหวัดอุบลราชธานี น้องคนเล็กยื่นที่จังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นคดีนี้มีผู้จัดการมรดก ๓ คน เพราะต่างคนต่างยื่น ศาลเองก็ไม่ทราบว่ามีการตั้งผู้่จัดการมรดกไปแล้ว...

เขตอำนาจศาลในจังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษมีศาลอยู่ ๓ ศาล คือ ศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ โดยแต่ละศาลมีเขตอำนาจ ดังต่อไปนี้

๑. ศาลจังหวัดศรีสะเกษ มีเขตอำนาจศาล ๑๖ อำเภอ ดังต่อไปนี้ คือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอพยุห์ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอยางชุมน้อย อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอภูสิงห์ อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอศิลาลาด อำเภอปรางค์กู่ อำเภอห้วยทับทัน อำเภอวังหิน อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ และอำเภอเมืองจันทร์

๒. ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ มีเขตอำนาจศาล ๖ อำเภอ คือ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอโนนคูณ อำเภอศรีรัตนะ อำเภอขุนหาญ อำเภอไพรบึง และอำเภอเบญจลักษ์

๓. ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ มีเขตอำนาจศาลทั้งจังหวัดศรีสะเกษ ที่เป็นคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน และคดีครอบครัว สามีภริยาและบุตร

เขตอำนาจศาล เป็นเรื่องของทนายที่จะต้องฟ้องร้องคดีให้ถูกศาล 

แต่ชาวบ้านก็ควรรู้ไว้เพราะถ้าเดินทางไปผิดศาล ท่านอาจเสียเวลา เสียเงินเพิ่มโดยใช่เหตุครับ

กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา

ทนายความจังหวัดศรีสะเกษ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น