วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การฟ้องเรียกบุตรคืน อำนาจปกครองของบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย

การฟ้องเอาลูกคืน จากสามีนอกสมรส 
การฟ้องเรียกบุตรคืน จากบุคคลผู้ไม่มีอำนาจปกครอง



สวัสดีครับผม ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา ทนายความจังหวัดศรีสะเกษ กับกฎหมายเพื่อความสุขวันนี้
ว่าความทุกข์ของคุณแม่ที่อยากได้บุตรกลับมาเลี้ยงดู จากสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จากคุณปู่ คุณย่า
หรือคุณแม่ที่ถูกกีดกันไม่ให้เจอลูก โทรไปก็ไม่ให้รับสาย มันทุกข์ใจจริงๆ คุณทนาย

หรือกรณีคุณพ่อที่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกบุตรคืน จากคุณยาย จากป้า...
ตามข่าวดังที่เกิดขึ้นที่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
กรณีคุณพ่อขอบุตรแฝดคืนจากคุณยาย ที่เลี้ยงดูหลานมา ๗ ปี

หรือกรณีข่าวดัง อดีตสะใภ้ตระกูลไฮโซดัง ร่ำไห้หน้าบ้านอดีตสามี ขอลูกคืน
หลังจากถูกฉกลูกไปจากหน้าโรงเรียน...

ก่อนอื่นมาดูกันก่อนนะครับว่า ใครมีสิทธิปกครองบุตรดีกว่ากันตามกฎหมาย

กฎหมายบอกว่า...

บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามมาตรา ๑๕๖๖  แต่อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาเพียงคนเดียวได้มี ๖ กรณี คือ

  1. มารดาหรือบิดาตาย
  2. ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
  3. มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
  4. บิดาหรือมารดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากจิตฟั่นเฟือน
  5. ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
  6. บิดามารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้ กล่าวคือ บิดาหรือมารดาตกลงให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของพ่อหรือของแม่ แต่จะยกให้อยู่ในอำนาจปกครองของคนอื่น เช่น ป้า ย่า ยาย ไม่ได้ แต่ตกลงให้บุตรไปพักอาศัยอยู่กับบุคคลดังกล่าวได้
และตามกฎหมาย มาตรา ๑๕๖๗ บัญญัติว่า ผู้ใช้อำนาจปกครอง ( บิดามารดา ) มีสิทธิ

  1. กำหนดที่อยู่บุตร คือ อนุญาตให้บุตรไปพักอาศัยอยู่กับคนอื่นได้ เช่นให้ยาย ให้ย่า ให้ป้าไปเลี้ยง ไปพักอาศัยอยู่บ้านย่า บ้านยาย บ้านป้าได้ เป็นต้น
  2. ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
  3. ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
  4. เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย  บุคคลอื่นคือ ที่ไม่ใช่บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยกฎหมายถือว่าคุณแม่เป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนคุณพ่อถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็ถือว่าเป็นคุณพ่อโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธินะครับ ยกเว้นไปทำเรื่องรับรองบุตรให้บุตรนอกกฎหมาย กลายมาเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก่อนถึงจะมีสิทธินะครับ...
จากกฎหมายดังกล่าว ให้สิทธิของบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่จะกำหนดว่าบุตรควรพักอยู่ที่ไหนและให้มีสิทธิเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย...สรุปง่ายๆ ก็คือ เช่น กรณีอุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ถ้าคุณพ่อที่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่แม่เด็กตายแล้ว ทำให้อำนาจปกครองบุตรตกไปอยู่ที่พ่อคนเดียว ดังนั้นการที่คุณพ่อยินยอมให้ลูกแฝดพักอาศัยอยู่กับยายและให้ยายเป็นคนเลี้ยงดู คุณพ่อย่อมมีสิทธิกระทำได้ตามมาตรา ๑๕๖๗ (๑) ในเรื่องการกำหนดที่อยู่ของบุตร 
ครั้นต่อมาเมื่อคุณพ่อมีความประสงค์ที่จะไม่ให้ลูกแฝดอยู่กับยายอีกต่อไป คุณพ่อก็มีสิทธิกระทำได้ตามมาตรา ๑๕๖๗ (๔) ในเรื่องเรียกบุตรคืนจากยายที่เป็นบุคคลอื่น....แม้คุณยายจะเลี้ยงมา ๗ ปีแล้วก็ตาม..

ที่นี้วิธีการเรียกบุตรคืน จะทำยังไงดี  การเอาบุตรคืนก็สามารถทำได้หลายวิธี 
ทั้งวิธีแบบนักเลงหรือวิธีแบบเบาๆ ตามขั้นตอนกฎหมาย..

๑.วิธีเอาลูกคืนเเบบนักเลง ตำรวจ สภ.ปรางค์กู่ท่านว่าอย่างนั้น ก็คือ เมื่อคุณพ่อคุณแม่มั่นใจในข้อกฎหมายแล้วว่าคุณพ่อ คุณแม่ มีสิทธิดีกว่าใครๆ ก็มาขอให้ตำรวจไปช่วย ไปเป็นเพื่อนให้อุ่นใจว่าไปแล้วจะไม่โดนลูกปืน หรือโดนทำร้าย จะไม่โดนข้อหาบุกรุกบ้านเขา จากนั้นอาจจบด้วยดีด้วยการได้พูดคุยกันหรืออาจจบแบบคดีน้องแฝดอุทุมพรพิสัย ที่สุดท้ายฝ่ายคุณพ่อได้ลูกไป แต่คุณพ่อกลับโดนด่า ตำรวจก็โดนด่า ถูกหาว่ายืนอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร...

            และจากกรณีดังกล่าว ที่โด่งดังไปทั่วสังคมออนไลน์ ทำให้ตำรวจกลัวกล้อง ไม่อยากโดนด่าแบบนั้นอีกแล้ว ตำรวจท่านเลยบอกว่าให้ไปใช้สิทธิทางศาลฟ้องเรียกบุตรคืนเอา...

๒. วิธีเอาลูกคืนแบบ ตำรวจไม่ไป ทำเองก็ได้ กรณีนี้ค้ือ การไปอุ้ม ไปฉกลูกคืนมา เช่นตามข่าวดังที่อดีตดาราโดนอดีตสามีตระกูลไฮโซฉกลูกไปหน้าโรงเรียน..การไปรับลูกคืนกรณีแบบนี้ต้องระวังโดนแจ้งข้อหาบุกรุกได้...และถ้าบุกรุกเข้าไปแล้วอาจโดนยิ่งตายฟรีๆ ได้...ดังนั้นสถานที่ไปรับลูกคื่นควรเป็นบริเวณสถานที่สาธารณะ เช่น บนถนน หน้าโรงเรียน เป็นต้น เพราะถ้าเข้าไปรับในโรงเรียน ควรจะต้องขออนุญาตเจ้าของสถานที่ คือท่านผอ. เสียก่อน ซึ่งท่านอาจจะไม่สะดวกใจที่จะให้เราพาลูกไปก็ได้...

คุณพ่อคุณแม่ที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถทำวิธีนี้ได้ แล้วอีกฝ่ายจะทำแบบนี้กลับได้หรือเปล่า ก็คงตอบว่าทำไม่ได้เพราะว่าเขาเหล่านั้น ไม่มีอำนาจปกครองเหมือนคุณพ่อคุณแม่ ถ้าทำอาจโดนข้อหาพรากผู้เยาว์ได้....โทษหนักยอมความไม่ได้อีกต่างหาก...

แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างมีสิทธิเหมือนกัน เช่นอีกฝ่ายเป็นคุณแม่ กับอีกฝ่ายเป็นคุณพ่อที่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่างฝ่ายต่างอุ้มลูกไป อุ้มลูกมา...ต่างคนต่างอ้างสิทธิ...ก็แนะนำให้ใช้วิธีที่ ๓ ครับจบแน่

๓.วิธีการฟ้องเรียกลูกคืน เรียกบุตรคืน โดยใช้สิทธิทางศาล สะดวก ปลอดภัย ทำแล้วจบ มีผลบังคับตามกฎหมาย หากยังดื้อแพ่งคงต้องโดนจับขังคุกเป็นแน่แท้...ซึ่งการใช้สิทธิทางศาลฟ้องเรียกบุตรคืน บางกรณีก็อาจจบด้วยความรวดเร็ว อีกฝ่ายยินดีคืนบุตรให้เพียงแค่ได้รับหมายศาลเท่านั้น แต่บางกรณีก็อาจต้องถึงชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ก็ว่ากันไปครับ...

ส่วนกรณีของคุณพ่อคุณแม่ที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสองฝ่ายนั้น...ศาลอาจตัดสินให้บุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลยก็ได้ หรืออาจให้ใช้อำนาจปกครองร่วมกัน โดยแบ่งเวลาดูแลลูกกันตามสมควร และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามคำพิพากษาของศาล ก็อาจถูกถอนอำนาจปกครองบุตรได้...

สุดท้ายทนาย อยากบอกว่า การที่ใครๆ ต่างก็รักลูกเรา เป็นสิ่งที่ดี 

แต่การที่อีกฝ่ายจะสร้างให้เด็กเกลียดชังอีกฝ่าย เพื่อครอบครองเด็ก 

เป็นสิ่งที่คนรักเด็ก รักลูกไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง.... 

...เจอผู้ปกครองแบบนี้ทนายเศร้าใจแทนเด็กครับ....

บทความที่เกี่ยวข้อง



กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น