วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

อีตอแหล เป็นความผิดอาญา ยอมความไม่ได้

การด่าผู้อื่นว่า " อีตอแหล "เป็นความผิดอาญาหรือไม่ ?

การที่จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า "อีตอแหล มาดูผลงานของแก " เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายหรือไม่ ?



สวัสดีครับผม ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา ทนายความศรีสะเกษ กับกฎหมายเพื่อความสุข

วันนี้ขอเสนอคำว่า " อีตอแหล"   ด่าเพื่อนคำนี้จะติดคุกหรือเปล่า ?

1.ก่อนอื่นมาดูว่า อีตอแหล เป็นคำชม หรือคำด่า ?

สามัญชนคนธรรมดาทั่วไป 99 % ย่อมรู้สึกว่า อีตอแหล เป็นคำด่า ไม่ใช่คำชมเชยแน่ๆ
ตอแหล มีความหมายตามพจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑฺิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า " เป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายไปในทางเสื่อมเสีย

 2. การด่าคนอื่น ว่า ตอแหล จึงเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นความผิดอาญา 
เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้....

การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย

ดังนั้น การกล่าวคำว่า ตอแหล ต่อบุคคลอื่น จึงเป็นการด่า เป็นการดูถูกเหยียดหยาม
และสบประมาทผู้อื่นว่าเป็นคนพูดเพ็จ จึงเป็นการดูหมิ่นอื่น อันเป็นความผิดตาม ปอ.มาตรา ๓๙๓

การด่าผู้อี่นว่า อีตอแหล เป็นความผิดอาญาฐานดูหม่ินผู้อื่นซึ่งหน้า ตามมาตรา ๓๙๓  มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือเป็นความผิดลหุโทษ เป็นความผิดเล็กน้อย แต่เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้....

ตัวอย่างฎีกา อีตอแหล 

ฎีกาที่ 8919/2552 โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,136 และ 391

ศาลชั้นต้น พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ปรับ 400 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง  คงปรับ 200 บาท
ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 68

ศาลฎีกา วินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย ประการแรกว่า  ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า
"อีตอแหล มาดูผลงานของแก " เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง
การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่า ถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือเป็นการทำให้ผู้ท่ีถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า "ตอแหล" ว่า เป็นคำด่าคนทีี่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการผูดด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ประเด็นข้อกฎหมายว่าเป็นการด่าเพื่อป้องก้ันตนเองนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ จำเลยไม่ได้สืบข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ปรากฎในศาลชั้นต้นไว้  เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา เพื่อจะนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามไม่ให้จำเลยอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ไม่ได้ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ฎีกาจำเลยในข้อนี้ การป้องกันตัว ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน...

จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว การด่าคนอื่นว่าตอแหล เป็นความผิดอาญา มีโทษจำคุกหรือโดนปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท...

แต่ด่า " อีตอแหล "ได้ไม่มีความผิด ถ้าเป็นกันด่าเพื่อป้องกันตนเอง....

กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา

ทนายความศรีสะเกษ






วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ยักยอกทรัพย์ ยักยอกทรัพย์นายจ้าง ยอมความได้

คดียักยอกทรัพย์ ยักยอกทรัพย์นายจ้าง 

เป็นความผิดอันยอมความได้ ไม่ติดคุก...



ภาพสมมุติ..ยักยอกที่ดินไปขาย

ผมโดนคดียักยอกทรัพย์สินค้าบริษัท จะทำยังไงดีท่านทนาย ?

สวัสดีครับ ผมทนายธีรวัฒน์  นามวิชา พบกันอีกครั้งกับความทุกข์ของนายจ้างและของลูกจ้าง คือ
คดียักยอกทรัพย์นายจ้าง นายจ้างทุกข์เพราะโดนลูกจ้างโกงเงินหรือโกงสินค้าไป ลูกจ้างทุกข์เพราะจะเสียอิสรภาพ ต้องติดคุกติดตะราง...ตัวเอง ครอบครัว พ่อแม่ ลูกเมีย
ตลอดจนผู้ค้ำประกันต้องเดือนร้อนด้วย

คดียักยอกทรัพย์ คดียักยอกทรัพย์นายจ้าง กฎหมายเพื่อความสุข
มีทางออกสำหรับทั้งสองฝ่ายแบบ win win ดังต่อไปนี้ครับ

1.ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์นายจ้าง
เป็นความผิดตามมาตรา 352  ที่บัญญัติว่า " ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ "

จากกฎหมายมาตรา 352 ดังกล่าว ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ จะต้องมีการครอบครองทรัพย์ของคนอื่น แต่ถ้าไม่มีการครอบครองทรัพย์ ก็จะไม่เป็นความผิดฐานยักยอก...

ตัวอย่าง ความผิดฐานยักยอกทรัพย์นายจ้าง ตามมาตรา 352 วรรคแรก เช่น นายจ้างมอบสินค้าให้ลูกจ้างเอาไปขาย ขายได้แล้วให้รับเอาเงินกลับมาส่งบริษัท พร้อมกับสินค้าที่เหลือด้วย...
วันดีคืนดีลูกจ้างหลงผิด ขายสินค้าได้แล้วเอาเงินบริษัทไปใช้ส่วนตัวและหายไปพร้อมกับสินค้าที่เหลือ...

หรือกรณี ผู้จัดการมรดกครอบครองมรดกแทนทายาท ผู้จัดการมรดกโอนเอาทรัพย์มรดกเป็นของตนเองหรือให้กับบุคคลอื่น โดยไม่เเบ่งปันให้กับทายาทผู้มีสิทธิได้รับ ก็เป็นความผิดฐานผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์มรดก...เป็นต้น

2.ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ยักยอกทรัพย์นายจ้าง มีโทษ จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ...โดยโทษยักยอกทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์นายจ้างนั้นนับเป็นกระทงๆ ไป เช่น วันนี้ยักยอกไป 5,000 บาท เมื่อเดือนก่อนยักยอกไป 10,000 บาท ก็จะเป็นการทำความผิดฐานยักยอกหรือยักยอกทรัพย์นายจ้าง 2 ครั้ง ก็จะมีโทษจำคุกครั้งละไม่เกินสามปีเป็นต้นครับ...

แต่ความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์นายจ้าง มีเมื่อรวมทุกกระทงแล้ว
มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี คับ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ครับผม..
เช่นบางท่านทำผิด 100 กระทง ศาลตัดสินโทษ 300 ปี แต่ลงสูงสุดไม่เกิน 10 ปี เป็นต้น

3.ความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์นายจ้าง ยอมความได้ ตามมาตรา 356 ที่บัญญัติว่า " ความผิดในหมวดนี้ ( หมวด 5 ความผิดฐานยักยอก ) เป็นความผิดอันยอมความได้ "

เป็นความผิดอันยอมความได้ คือ ผู้เสียหาย หรือนายจ้าง ได้ให้อภัยลูกจ้างแล้วเนื่องจากความสงสาร หรือลูกจ้างได้ชำระค่าเสียหายคืนแก่นายจ้างจนเป็นที่พอใจแก่นายจ้างแล้ว
นายจ้างไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไปอีก คดียักยอกทรัพย์นายจ้าง ก็เป็นอันจบกัน

คดียักยอกทรัพย์นายจ้าง สามารถยอมความกัน จับกันได้ทั้งที่ชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ
โดยการถอ คดียักยอกทรัพย์นายจ้าง อัยการจะเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ผู้เสียหายหรือนายจ้าง
จะถอนฟ้องไม่ได้ แต่จะแถลงขอถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลแทน....

แต่นายจ้างบางบริษัท บางท่าน ถึงจ่ายเงินค่าเสียหายครบ...แต่ก็ยังประสงค์ให้ดำเนินคดีต่อลูกจ้างต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนะครับ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ลูกจ้างคนอื่นๆในบริษัทต่อไป...

4.ยักยอกทรัพย์ ยักยอกทรัพย์นายจ้าง อายุความกี่ปี ความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์นายจ้าง มีอายุความ 10 ปี ตามกฎหมายอาญามาตรา 95 แต่เนื่องจากเป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายหรือนายจ้างต้องแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องร้องดำเนินคดี
ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ
ตามกฎหมายอาญา มาตรา 96

ก็คือ คดียักยอกทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์นายจ้าง ผู้เสียหายหรือนายจ้างต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่อง หลังจากนั้นพนักงานตำรวจก็ต้องดำเนินการติดตามจับกุมผู้กระทำผิดหรือลูกจ้างให้ได้ตัวมาส่งศาลภายใน 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด

เพราะถ้าตำรวจไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาส่งศาลอัยการก็ส่งฟ้องไม่ได้ คดีก็ขาดอายุความ คดีจบกันไปในข้อหานั้น เช่น คดีดังคดีทายาทกระทิงแดงขับรถชนตำรวจตาย ที่คดีขาดอายุความไปแล้วในบางข้อหา...

5. คดียักยอกทรัพย์นายจ้าง เมื่อคดีขาดอายุความ หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) และ (6) ก็คือถือว่าคดียักยอกทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ของนายจ้างในคดีดังกล่าว จบกันไป จะนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีกันอีกไม่ได้ต่อไป.... ยกเว้นกระทำความผิดใหม่...

ปัจจุบัน คดียักยอกทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์นายจ้าง อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะใช้วิธีสมานฉันท์ให้โอกาสจำเลย( ลูกจ้าง ) กับผู้เสียหาย คือนายจ้าง ได้มีโอกาสพูดคุยเจรจาชดใช้ค่าเสียหายกัน เมื่อคู่ความเข้าใจกันแล้ว สามารถตกลงกันได้ ก็จะเป็นการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เป็นการชนะแบบ win win เพราะนายจ้างก็ได้เงินได้ค่าเสียหายคืน ลูกจ้างก็ได้อิสระภาพไม่ต้องติดคุก...

เพราะนายจ้างก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินค่าเสียหายคืนเหมือนกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจำเลยหรือลูกจ้างจะมีทรัพย์สินอะไรให้ยึดมาขายทอดตลาดเพื่อชดใช้ค่าเสียหายคืนหรือเปล่า...บางท่านอาจจะได้แค่คำพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหาย ได้แต่กระดาษแต่ไม่ได้เงิน...

สุดท้าย ลูกจ้างก็บอกว่าอย่างนี้ก็ดีซิ ยักยอกทรัพย์เงินนายจ้างไปใช้ก่อน จับได้ค่อยไปใช้คืน...ทนายอยากบอกว่า การเป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาล ไม่ใช่เรื่องสนุก เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา ทั้งประวัติ เพราะเมื่อถูกดำเนินคดีลูกจ้างก็ต้องถูกจับเข้าคุก ลูกจ้างหรือจำเลย ก็ต้องหาเงินมาประกันตัว และถึงแม้ว่าสามารถพูดคุยเจรจากับนายจ้างได้ จนนายจ้างไม่ติดใจเอาความต่อ ท่านได้อิสรภาพกลับคืนมาแต่สิ่งสำคัญคือประวัติของลูกจ้าง ลูกจ้างที่มีประวัติติดตัวข้อหายักยอกทรัพย์ของนายจ้าง แล้วท่านไปสมัครงานที่ไหน นายจ้างสักกี่คนที่จะยินดีรับท่านเข้าทำงาน ถ้าทราบว่าท่านเคยโกง เคยยักยอกทรัพย์นายจ้างมาก่อน....กฎหมายเพื่อความสุขครับ....

แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับผม...

    กฎหมายเพื่อความสุข

   ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา
ทนายความจังหวัดศรีสะเกษ




วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คดีเช่าซื้อรถยนต์ ถูกไฟแนนซ์ฟ้องผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ทำไงดี

สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ คืนรถยนต์แล้วทำไมยังโดนฟ้อง ??



คุณทนายค่ะ รถยนต์โดนยึดไป 7 ปีแล้ว
แต่มีหนังสือทวงหนี้มาที่บ้าน ?

โดนยึดรถยนต์ไปแล้วค่ะ มีหมายศาลมาบ้าน
ทำอย่างไรดีค่ะ ?

กฎหมายเพื่อความสุขวันนี้  มีคำตอบ ว่าด้วย

ถูกไฟแนนซ์ฟ้องคดีหลังถูกยึดรถไปแล้วครับผม...

จะต้องจ่ายเงินอีกให้เขาอีกหรือ ???

๑.ผิดสัญญาเช่าซื้อ มีหนี้อะไรบ้างที่ต้องจ่าย ตามสัญญา

ซึ่งส่วนมากที่เขาฟ้องเรียกมาก็จะเป็น

1. ค่าขาดราคารถยนต์ที่เช่าซื้
ซึ่งเมื่อนำรถยนต์ออกประมูลขายได้แล้วเขาขาดทุน 
ไม่พอกับจำนวนหนี้ในสัญญาเช่าซื้อที่เหลือ

2.ค่าขาดประโยชน์ที่ควรได้รับ เนื่องจากเราผิดนัด
แล้วยังคงครอบครองใช้รถระหว่างผิดนัด จนถึงวันฟ้อง

3. ค่าติดตามทวงถาม ค่ายึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อ
4. เรียกดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีมาด้วยครับ


๒. เมื่อผิดสัญญาเช่าซื้อแล้ว โดนฟ้องคดีแล้ว จะจ่ายน้อย จ่ายมาก หรือ
ไม่ต้องจ่ายเลยแถมเรียกเงินคืนได้ด้วย จะต้องดูอะไรบ้างคับ


ก็ต้องดู ข้อสัญญา + ข้อกฎหมาย  = ข้อสัญญาเช่าซื้อนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า

สรุปคือ ถ้าเป็นสัญญาเช่าซื้อที่ขัดกับกฎหมาย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
ข้อสัญญาเช่าซื้อนั้นก็ตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องคดีไม่ได้

ข้อกฎหมายสำคัญในสัญญาเช่าซื้อ ที่ผู้บริโภคควรรู้

1.ข้อกฎหมาย ตามมาตรา 572 สรุปใจความได้ว่า
"สัญญาเช่าซื้อ คือ สัญญาเช่า + คำมั่นสัญญาว่า
จะให้รถนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า 
เมื่อผู้เช่าจ่ายค่างวดครบครับ....

่2.ข้อกฎหมายที่สำคัญมากๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงก็คือ

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง
ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์
เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 

เพราะประกาศนี้ถือว่าเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบ
เรียบร้อยของประชาชน ถ้าสัญญาเช่าซื้อฝ่าฝืนไม่ทำตาม
ถือว่าข้อสัญญานั้นตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้คับ


3.ข้อกฎหมายที่สำคัญอีกข้อในสัญญาเช่าซื่อ คือ

3.1 มีการยึดรถหรือคืนรถก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันหรือสิ้นสุดลง

3.2 ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหลังจากสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงแล้ว
เพราะถ้าคืนรถก่อนหรือโดนยึดรถก่อนสัญญาเลิกกัน

ก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับไฟแนนซ์นะคับ

ที่นี้มาดูว่าสัญญาเช่าซื้่อเลิกกันเมือ...

1.ผู้เช่าซิื้อสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าได้
โดยการส่งมอบรถยนต์คืนแก่ไฟแนนซ์ ได้
ตามมาตรา 573

2.รถยนต์คันที่เช่าซื้อสูญหาย หรือไฟไหม้ 
ถูกทำลายไปสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง 
ตามมาตรา 567 เพราะสัญญาเช่าซฺื้อเป็น
สัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่ง

ดังนั้นเมื่อรถที่ให้เช่าซื่้อหาย ถูกทำลายแล้ว 
จึงไม่ต้องจ่ายค่าเช่าอีกต่อไป
เพราะไม่ได้ใช้รถยนต์อีกต่อไปแล้ว

สรุปข้อนี้ คือเราไม่ต้องจ่ายค่างวดอีกต่อไปนะคับ..

3.ผู้ให้เช่าซื้อ เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา
ซึ่งต้องปฎิบัติตามสัญญาและข้อกฎหมายคับ

ข้อกฎหมายที่สำคัญก็คือ

ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา 
เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์
เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543

ข้อ 3(4) ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน 
และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อ
ให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วัน 
นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น 
ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะมีสิทธิยึดรถได้ครับ

ซึ่งในสัญญาเช่าซื้อก็ต้องเขียนตามประกาศนี้คับ

ค้ือ ผิดนัดชำระค่างวด 3 งวดติดๆ กัน + กับอีก 30 วัน

นับแต่วันเราได้รับจดหมายลงทะเบียนตอบรับ ถ้าเราไม่จ่าย
ค่างวดที่ค้างชำระ 

ย้ำค่างวดเช่าซื้อที่ค้างชำระนะครับ ไม่ใช่ค่างวดที่เหลือทั้งหม

ถ้าเราไม่ชำระ ไฟแนนซ์จึงจะสามารถบอกเลิกสัญญาได้

ซึ่งผลก็คือ เมื่อเราเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญา 

ตามข้อนี้ ทำให้ไฟแนนซ์ สามารถติดตามยึดรถคืนได้

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ก็จะมีตัวแทนยึดรถของไฟแนนซ
ไปตามยึดรถให้ ซึ่งจะมีทั้งไปยึดก่อนที่สัญญาสิ้นสุดลง
หรือหลังจากที่สัญญาสิ้นสุดลงตามข้อ 3

สรุป ผิดสัญญาเช่าซื้อ จะต้องรับผิดหรือไม่ ?


1.ถ้าไปยึดก่อนสัญญาสิ้นสุดลง เรามีสิทธิไม่คืนรถได้
เขายึดไป เราไปแจ้งความเป็นหลักฐาน เรียกค่าเสียหายได้
เพราะไฟแนนซ์เป็นฝ่ายผิดสัญญา...

ผู้เช่าซื้อ ผู้ค้ำประกัน ไม่ต้องรับผิดชอบ แถมฟ้องแย้งกลับเรียกค่าเสียหายได้ด้วย

2. ถ้าไฟแนนซ์ ไปติดตามยึดรถคืน 
หลังสัญญาสิ้นสุดลงตามข้อ 3
ไฟแนนซ์ สามารถคิดค่าติดตามรถ
ค่าขาดราคารถ ค่าขาดประโยชน์ ต่างๆได้
เพราะถือว่าเราเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญา

ค่าขาดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ   ในกรณีขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อได้ในราคาน้อยกว่านี้ที่่ค้างชำระ
ผู้ให้เช่าซื้อ สามารถฟ้องเรียกค่าขาดราคาได้ แต่ผู้ให้เช่าซื้อ ต้องปฎิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายคือ

๑. ก่อนขาย ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อ หรือผู้ค้ำประกัน ทราบก่อนไม่น้อยกว่า ๗ วัน เพื่อให้สิทธิแก่ผู้เช่าซื้อ สามารถซื้อรถยนต์คืนได้ในราคาที่ค้างชำระ

๒. หลังจากขายแล้ว  ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบว่า ขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อได้ราคาเท่าไหร ยังเหลือหนี้อยู่อีกเท่าไหร หรือขายได้กำไรกี่บาท ภายใน ๑๕ วัน นับจากวันขายทอดตลาด

ถ้าไม่แจ้งให้ทราบตามกฎหมาย ก็เรียกค่าเสียหายค่าขาดราคาไม่ได้นะครับ...

ค่าขาดราคารถยนต์นั้นคิดคำนวณจากอะไร ?

ค่าขาดราคารถยนต์นั้น ศาลจะคิดคำนวณจากราคารถยนต์คันที่เช่าซื้อในราคาตลาดในขณะที่ขาย
หักด้วยค่างวดค่าเช่าซื้อทั้งหมดท่ี่จ่ายมาแล้ว หักด้วยราคารถยนต์คันที่เช่าซื้อที่ขายทอดตลาดได้

ค่าขาดประโยชน์ ค่าใช้รถยนต์คันที่เช่าซื้อระหว่างผิดนัด

ค่าขาดประโยชน์จากรถยนต์คันที่เช่าซื้อนั้น ส่วนมากโจทก์ก็จะอ้างว่าสามารถเอาออกให้คนอื่นเช่าได้
ในแต่ละเดือนเป็นเงินเท่ากับค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อ  ซึ่งผู้เช่าซื้อสามารถโต้เถียงได้ว่าไม่ใช่ เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ของโจทก์ ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจลดให้ได้ตามสมควรในค่าเสียหายส่วนนี้ แม้เราไม่สู้คดี

ส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตาม ค่ายึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืน ก็ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็นและมีเหตุผลตามสมควร  

แนวทางในการต่อสู้คดีเช่าซื้อรถยนต์ ก็คงมีประมาณนี้ในกรณีที่รถยนต์คันที่เช่าซื้อโดนยึดแล้ว

หวังว่าจะเป็นแนวทางให้เพื่อนๆ ในการนำไปใช้ต่อรอง กับทางบริษัทไฟแนนซ์ 
หรือทนายไฟแนนซ์ได้นะครับ ว่าเราต้องรับผิดชอบประมาณนี้  ที่ท่านฟ้องมามันเยอะเกินความจริง 
ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชอบ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้เช่าซื้อรถยนต์ 
หรือญาติๆ ของท่านที่โดนฟ้องคดีเช่าซื้อรถยนต์ไม่มากก็น้อยนะครับ
 

แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับ

...กฎหมายเพื่อความสุข...


   ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา

    ทนายความศรีสะเกษ


วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คดีบัตรเครดิต คดีบัตรเครดิตเป็นคดีอะไร อายุความคดีบัตรเครดิต

ปรึกษาทนายเรื่องเรื่องหนี้บัตรเครติด
จะทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายศาลคดีบัตรเครดิต



ภาพคำให้การต่อสู้คดีบัตรเครติด

คดีบัตรเครดิตเป็นคดีอะไร คดีบัตรเครดิตเป็นคดีผิดนัดผิดสัญญาทางแพ่ง จัดอยู่ในคดีผู้บริโภค ที่โจทก์จะต้องฟ้องจำเลย ( ผู้ใช้บัตร ) ณ ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาตั้งอยู่ คือคดีบัตรเครดิตต้องไปขึ้นศาลที่จำเลยมีซื่่ออยู่ในทะเบียนบ้าน...เช่น ผู้ใช้บัตรมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ สมัครบัตรเครดิตอยู่กรุงเทพ เวลาโดนฟ้องคดีต้องมาขึ้นศาลจังหวัดศรีสะเกษนะครับ เพราะเป็นศาลจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่

จะทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายศาลคดีบัตรเครดิต??

๑.อันดับแรกถามตัวเองก่อนว่าได้เป็นสมัครใช้บัตรเครดิตดังกล่าวหรือเปล่า ?
๒.เราได้ใช้จ่ายบัตรเครดิตตามที่ฟ้องหรือเปล่า ยอดหนี้ตามใบเสร็จที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้อง ถูกต้องหรือเปล่า ?
๓.มีทางสู้คดีให้ชนะหรือเปล่า ?
๔.ถ้าสู้คดีไม่ได้ จะสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้เท่าใด ?

แนวทางการต่อสุ้คดีบัตรเครดิต จะให้การต่อสู้คดีบัตรเครดิตอย่างไรดี

๑.ต่อสู้เรื่องบัตรเครดิตขาดอายุความ 2 ปี 
 อายุความบัตรเครดิต 2 ปี หมายความว่าอย่างไร  เนื่องจากสัญญาบัตรเครดิตนั้นมิใช่สัญญากู้ยืมเงิน หรือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หรือเป็นสัญญาเดินสะพัดทางบัญชีแต่อย่างใด เเต่สัญญาบัตรเครดิต เป็นสัญญารับทำการงานต่างๆ ให้แก่สมาชิก ซึ่งมีลักษณะเป็นกิจการงานบริการอำนวยควายสะดวกแก่สมาชิก จึงมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้  ตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34 (7)  ดังนั้น ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี เพราะหากฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 2 ปี ลูกหนี้บัตรเครดิตหรือจำเลยสามารถยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ซึ่งทำให้ศาลมีอำนาจหยิบยกเรื่องอายุความขึ้นมาวินิจฉัยยกฟ้องได้

อายุความบัตรเครดิต 2 ปี นับจาก  วันที่จำเลยผิดนัดครั้งแรก เช่นธนคารมีใบเสร็จใบแจ้งหนี้แจ้งให้จำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด ธนาคารโจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2540 ซึ่งจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 7 พฤษภาคม 2542

อีกแบบหนึ่งคือ ธนาคารบอกยกเลิกบัตรเครดิตแล้วแจ้งให้สมาชิกชำระหนี้ทั้งหมดภายในวันใดนั้น ถ้าสมาชิกไม่ชำระหนี้ทั้งหมดภายในกำหนดดังกล่าว ก็ถือว่าสมาชิกบัตรเครดิตผิดนัดนับแต่วันนั้นเป็นต้นไป นับอายุความ 2 ปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปคับ..

อายุความบัตรเครดิต 2 ปี สะดุดหยุดลง คือ พูดแบบง่ายๆ คือ จะครบกำหนดอายุความ 2 ปีแล้ว จะไม่ต้องรับผิดชอบใช้หนี้ให้ธนาคารแล้ว แต่ต้องกลับมานับอายุความเริ่มต้นหนึ่งใหม่อีกครั้ง เนื่องจากลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับธนาคาร หรือลูกหนี้ชำระหนี้ให้บางส่วน หรือชำระดอกเบี้ย เป็นต้น ตามมาตรา 193/14(1) เช่นไม่ได้ชำระหนี้บัตรเครดิตมาแล้ว 1 ปี 10 เดือน เหลืออีก  2 เดือนคดีจะขาดอายุความ แต่เดือนถัดมากลับไปจ่ายหนี้บัตรเครดิตให้ 500 บาท เนื่องจากเบื่อที่โดนโทรทวงหนี้ ก็เป็นผลทำให้อายุความบัตรเครดิตสะดุดหยุดลง ต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่นับถัดจากวันจ่ายหนี้เป็นต้นไป

แต่ถ้าหมดอายุความบัตรเครดิต  2 ปี แล้วมาชำระภายหลังจากที่ขาดอายุความแล้ว ก็ถือว่าอายุความขาดไปแล้ว ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ไม่เป็นการรับสภาพหนี้ แต่จะเรียกเงินที่ชำระหนี้หลังจากขาดอายุความคืนไม่ได้ก็เท่านั้นเอง ตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง

ท่านต้องยกเริื่องอายุความบัตรเครดิตขาดอายุความ 2 ปี แล้วขึ้นเป็นคำให้การต่อสู้คดี เพราะถ้าไม่หยิบยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ ก็ถือว่าท่านสละอายุความบัตรเครดิต 2  ปี  ศาลจะยกฟ้องโจทก์เนื่องจากคดีขาดอายุความเองไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/29 

ตัวอย่างฎีกาบัตรเครดิต

ฎีกาที่ 8805/2544 การที่โจทก์ให้บริการประเภทบัตรเครดิตให้แก่สมาชิก โดยโจทก์ให้สมาชิกใช้ซื้อสินค้าไปก่อนหรือกดเงินสดไปก่อนแล้วโจทก์ไปชำระค่าสินค้าแทนให้แล้วเรียกเก็บเงินในภายหลัง แล้วเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ จากสมาชิก เป็นกรณีที่โจทก์ประกอบธุรกิจในการรับทำงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป ตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์มาตรา 19314(7)  มีอายุความ 2 ปี  โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด ธนาคารโจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2540 ซึ่งจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 7 พฤษภาคม 2542 การที่จำเลยชำระหนี้บางส่วนในวันที่ 22 ธันวาคม 2542 เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/28 วรรคหนึ่งเท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 9 สิงหาคม 2543 ซึ่งหลังจากครบกำหนดอายุความแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

๒. ข้อต่อสู้อื่นๆ ก็เช่นเรื่องดอกเบี้ยคิดไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นทบดอก โหดยิ่งกว่าเจ้าหนี้นอกระบบ หรือธนาคารเจ้าหนี้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือธนาคารยังไม่เสียหาย ยังไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญา ประเภทผ่อนขั้นต่ำอยู่ดีๆ ธนาคารกลับรวบกับบัตรอื่นมาฟ้องชะอย่างนั้น...เป็นต้น

คดีบัตรเครดิต ไม่ไปศาลตามหมายนัดจะเป็นอย่างไร ??? ก็แพ้คดีซิครับ ประมาณ 99 % อีก 1% ศาลอาจยกฟ้องก็ได้เนื่องจากความบกพร่องของโจทก์เอง แต่จริงๆ แล้วไม่ไปศาลก็ได้นะครับ ถ้าคุณคิดว่าไม่เกิดประโยชน์เสียเวลา ทำมาหากิน...เพราะว่า

1.คดีบัตรเครติดเป็นคดีแพ่ง จำเลยไม่ต้องไปศาลก็ได้ อาจแต่งตั้งให้ทนายทำแทน มอบอำนาจให้คนอื่นไปแทน หรือไม่ต้องทำอะไรก็ได้ตามสิทธิของจำเลยไม่โดนจับอยู่แล้ว

2.ถ้าดูแล้ว คุณสมัครบัตรเครดิตจริง ใช้บัตรเครดิตจริงตามฟ้อง ไม่มีข้อต่อสู้คดีอะไรที่จะชนะคดีได้ เสียค่าทนาย ค่ารถ ค่าทำมาหากินเปล่า ๆๆ ก็ไม่ต้องไปศาลครับ

3.ประเภทที่ไม่สามารถเจรจาตกลงไกล่เกลี่ยกับทางธนาคารได้ กับทนายโจทก์ได้  เพราะหลังจากโดนฟ้อง คุณสามารถโทรไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางธนาคารได้ ซึ่งบางธนาคารก็ใจดี ลดต้น ลดดอกให้ บางธนาคารก็ลดให้เฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น และทางธนาคารจะกำหนดเงื่อนไขให้คุณผ่อนชำระมา ถ้าคุณโทรคุยแล้ว ตกลงไม่ได้ คุณคิดว่าไม่ไหวแน่ๆๆ คุณก็ไม่ต้องมาศาลให้เสียเวลา เพราะมาก็คุยตกลงกันไม่ได้อยู่ดี  แต่ถ้าคุณคิดว่าพอไหวขอต่อเวลาผ่อนชำระอีกหน่อย คุณควรมาศาล  เจรจาขอเองเบื้องต้นก่อน ถ้าไม่ได้ก็ขอให้ศาลผู้พิพากษาช่วยขอให้ เพราะความจริงแล้วธนาคารเขายังขยายเวลาให้คุณผ่อนชำระได้อยู่...

4.ส่วนเรื่องดอกเบี้ยร้อยละ 28 ต่อปี หรือเงินดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องเรียกมาในฟ้อง ศาลท่านมีอำนาจที่จะปรับลดให้ตามสมควรอยู่แล้ว...ท่านไม่มา หรือมาแล้วไม่สู้คดี ศาลท่านก็ใจดีมีอำนาจตัดลดให้อยู่แล้ว

5.แต่ถ้าท่านเห็นว่าคดีท่านมีทางชนะ เช่นคดีขาดอายุความแล้ว ท่านควรมาศาล เพราะถ้าไม่มาท่านก็จะเเพ้คดี เพราะศาลไม่มีอำนาจที่จะหยิบยกเรื่องอายุความ มาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ได้ แม้ศาลท่านใจดีอยากจะช่วยท่านก็ตาม เนื่องจากท่านไม่มาศาลไม่มาต่อสู้คดีและหยิบยกเรื่องบัตรเครดิตขาดอายุความแล้วขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดี...

กฎหมายเกี่ยวกับบัตรเครดิต

๑. อายุความบัตรเครดิต 2 ปี ตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์มาตรา 19314(7)

๒.อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) จากการรับสภาพหนี้ ชำระหนี้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย

๓.เรียกเงินที่ชำระหลังขาดอายุความคืนไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง

๔.อายุความบัตรเครดิต 2  ปี ต้องยกขึ้นให้การต่อสู้คดี ศาลจึงจะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/29  " เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้"

ส่วนกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับบัตรเครดิต ก็มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องดอกเบี้ย เบี้ยปรับต่างๆ

เป็นหนี้บัตรเครดิตติดคุกหรือไม่ ??

คำถามสุดท้าย เป็นหนี้บัตรเครดิต ติดคุกหรือไม่ ทนายขอตอบว่าคดีบัตรเครดิตเป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญาจึงไม่ติดคุก เพราะเมื่อคุณแพ้คดี ไม่จ่ายหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ธนาคารก็จะมีการส่งคำบังคับให้คุณชำระหนี้ตามคำพิพากษาภายใน ๓๐ วันนับแต่ได้รับหมาย ถ้าคุณยังไม่จ่าย ธนาคารก็จะมีการบังคับคดี ยึดทรัพย์คุณออกขายทอดตลาด หรือยึดเงินเดือนคุณ เป็นต้น ถ้าคุณไม่มีทรัพย์สินอะไรให้ยึด เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถจับคุณเข้าคุกได้ รอยึดทรัพย์คุณไปภายใน ๑๐ ปี ถ้าไม่มีอะไรให้ยึดก็จบ..ตัวใครตัวมัน..แบบว่าไม่ต้องมากู้เงินกับธนาคารนี้อีกแล้วนะ และธนาคารอื่นอาจไม่ปล่อยกู้ด้วยเพราะเสียเครดิตแล้ว

แต่เป็นหนี้บัตรเครติดอาจติดคุกได้  ถ้าคุณโกงเจ้าหนี้ ประเภทมีทรัพย์สินแล้วกลัวโดนยึด เอาทรัพย์สินไปโอนย้ายให้คนอื่น หรือประเภทโดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาดแล้ว ได้รับหมายแจ้งให้ออกจากบ้านแล้วไม่ยอมออก ก็ต้องถูกจับไปนอนคุกเพื่อส่งมอบบ้านให้กับคนซื้อต่อไปครับผม...

เรื่องบัตรเครดิต ก็คงมีประเด็นประมาณนี้ครับ 
ถ้าส่งสัยอะไรสอบถามเพิ่มเติมได้ครับจะมาตอบให้

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อนๆ นะครับ

กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา
  ทนายความศรีสะเกษ


วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

รถชนหมา รถชนวัวควาย ใครถูก ใครผิด

คดีรถชนหมา รถชนวัว ชนควาย ใครถูก ใครผิด



ภาพรถชนควาย ใครผิด ใครถูก ??

ขับรถชนหมา ชนวัวควาย ใครถูกใครผิด?

"ควายไม่รู้ภาษา คนซิต้องผิด"

ใช่ครับควายไม่ผิด เพราะไม่รู้ภาษา 

แต่คนรู้ภาษา จึงต้องผิด แต่คนไหนจะผิด

คนขับรถหรือเจ้าของควาย....หรือคนเลี้ยงควาย

เรื่องรถชนควาย ชนวัว หรือชนสุนัข มีหลักเกณฑ์ กฎหมาย ดังนี้ครับ

๑.ถนนมีไว้ให้รถวิ่ง กฎหมายออกมาเพื่อความปลอดภั
ของคนใช้รถ ใช้ถนนครับ 

....คือไม่ได้มีไว้สำหรับให้สุนัขวิ่ง หรือให้วัวหรือควายเดิน
ถ้าจะให้ควายวัว หมาเดิน เจ้าของต้องดูแลให้ดีครับ
ดูแลไม่ดี ไม่เพียงพอ เจ้าของหมา วัว ควาย 
จึงต้องรับผิด

...ขนาดมีป้ายให้วัวควายเดินแล้ว
เจ้าของวัวควาย ก็ยังผิด ถ้าดูแลไม่ดี
ไม่เพียงพอ...

...รับผิดตาม พรบ.จราจร...

๒.หมา วัว ควาย ไม่รู้ภาษาไม่ผิด คนซิต้องผิด

ใช่ครับ หมา วัว ควาย ไม่รู้ภาษา ไม่รู้กฎจราจร 

ข้ามได้ ข้ามไม่ได้...ดังนั้น หมา วัว ควาย จึงไม่ผิดครับ

แต่เจ้าของหมา วัว ควาย รู้ภาษา รู้กฎจราจรไหมครับ..
เมื่อเจ้าของหมา วัว ควาย รู้ภาษาคน
จึงต้องรับผิดแทนหมา วัวควาย ครับ ถ้า???

....เจ้าของวัวควาย หรือสุนัข ผิดเพราะไม่ดูแลหมา วัว ควายให้ดี 

....ดังนั้นเจ้าของหมา วัว ควาย จึงต้องรับผิดแทนหมาครับ
สรุปต้องจ่ายเงินให้คนชนครั

...เสียทั้งควาย วัวหรือสุนัข และต้องเสียทั้งเงิน....


ชดใช้ความเสียหายให้คนชน

ต้องรับผิดตาม กฎหมายเเพ่ง มาตรา ๔๓๓ 

๓.กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้นครับ...

เจ้าของสุนัข วัวควาย ไม่ต้องรับผิด

เมื่อพิสูจน์ได้ว่า ดูแลดีแล้ว เพียงพอแล้ว
เป็นความประมาทของคนขับรถเอง...


เช่นขับรถมาด้วยความเร็วสูง มีป้ายวัวควายเตือน ก็ไม่ใช้ความระมัดระวัง
เห็นวัว ควาย หรือสุนัขอยู่ข้างหน้า ก็ไม่ชะลอความเร็วรถลง เป็นต้น

กรณีนี้ คนขับรถชนควาย ชนวัว หรือชนสุนัขเป็นฝ่ายผิด


ข้อกฎหมาย ขับรถชนวัว ชนควาย หรือชนสุนัข


พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๑๑ 

พรบ.ทางหลวง พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๔๖, ๑๔๘

ฎีการถชนวัว ชนควาย ๕๑๙๗ /๒๕๕๖

ฎีกาข้างต้น ซึ่งเจ้าของวัวถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ศาลฎีกาได้โปรดวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ โดยให้เหตุผลไว้ว่า " ซึ่งกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวบัญญัติในทำนองเดียวกันว่า " ห้ามมิให้ผู้ใดขี่ จูง ไล่ต้อน หรือปล่อยสัตว์ไปบนทางในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เเละไม่มีผู้ควบคุมเพียงพอ"
 

โดยกฎหมายดังกล่าวไม่มีบทสันนิฐานให้ถือว่าเจ้าของสัตว์เป็นผู้กระทำความผิด หรือบัญญัติให้เจ้าของสัตว์จะต้องรับผิดตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว แม้จะมิได้เป็นผู้จูง ไล่ต้อน ปล่อยหรือเลี้ยงสัตว์ด้วยตนเองก็ตาม " เมื่อโจทก์สืบไม่ได้ศาลฎีกาจึงยกฟ้อง... 

แต่ตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๓ กลับให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของสัตว์ หรือผู้รับเลี้ยงสัตว์นั้นเป็นฝ่ายผิด  ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คนขับรถชน

เว้นแต่  จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยง การรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสุจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น "

จากกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงสรุปได้ว่า วัวควาย สุนัข เดินในถนนได้ แต่เจ้าของ หรือผู้ดูแลต้องดูแลให้ดี ให้เพียงพอ ไม่ให้กีดขวางการจราจร....

แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น กรณีรถชนควาย รถชนวัว หรือรถชนสุนัข 
ต้องดูว่า ใครฝ่ายไหนเป็นฝ่ายประมาทมากน้อยกว่ากัน 
ฝ่ายที่ประมาทน้อยกว่าก็สามารถเรียกค่าเสียหายจากฝ่ายที่ประมาทมากกว่าได้...

แต่ฝ่ายที่มีภาระพิสูจน์ในกรณีค่าเสียหายทางแพ่ง คือ เจ้าของวัว เจ้าของควาย หรือเจ้าของสุนัข  
ที่่ต้องพิสูจน์ว่าได้ใช้ความระมัดระวังที่เพียงพอแล้ว....

สรุป รถชนวัว รถชนควาย รถชนสุนัข ฝ่ายไหนถูก ฝ่ายไหนผิด

ต้องไปดูว่าใครประมาทมากน้อยกว่ากัน หรือผิดทั้งสองฝ่าย

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ

ปล. ถ้าชอบให้กด Like ถ้าใใช่กดShare  แต่ถ้ารักให้กด Love

กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา


วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.401 แล้วจะฟ้องเอาคืนฟรี ๆ

ไม่มีสัจจะ ในหมู่โจร 

ขายที่ดิน ส.ป.ก. แล้วจะมาฟ้องเอาคืนแบบฟรี ๆ ได้ด้วยหรือ ?




สวัสดีครับ ผมทนายธีรวัฒน์  นามวิชา ทนายความคนศรีสะเกษ

วันนี้มาดูปัญหาที่ชาวบ้าน ทึ่มีที่ดินอยู่ในเขต ส.ป.ก.

เช่น แถวอำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ บ้านผมเอง

ปัญหามีอยู่ว่า ชาวบ้านตกลงซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. กันเอง

โดยการส่งมอบการครอบครองที่ดินให้กับคนซืิ้อ พร้อมต้นฉบับ ส.ป.ก.4-01

เเละมีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเป็นหลักฐาน...

โดยตอนซื้อขายที่ดิน สปก. ก็เข้าใจดีทั้งสองฝ่ายว่าทีี่ดิน สปก.ห้ามซื้อขายกันตามกฎหมาย

แต่ก็อาศัยความไว้วางใจกันว่า ซื้่อแล้วจะไม่เอาคืน....

...บางคนก็มีการทำสัญญากู้ยืมเงินไว้เพื่อเป็นหลักประกันป้องกันการเอาที่ดินคืน...


แต่วันดี คืนดีคนขาย หัวหมอ 
มาฟ้องเอาคืนที่ดิน สปก.4-01 
โดยจะไม่จ่ายเงินคืนให้กับคนซื้อชักบาท...

จะได้ทั้งเงิน จะได้ทั้งที่ดิน สปก.คืนแบบฟรี ๆๆ

เงินทองบังตา ทำให้ลืมสัญญาทีี่เคยให้ไว้...
คนแบบนี้น่าคบหาจริงๆ ...

คนซื้อ ซึ่งเป็นญาติพี่น้องก็เลยมาปรึกษาว่า 

ท่านทนายเขาฟ้องเอาที่ สปก.คืน จะสู้เขาได้หรือเปล่านี้ ??

หลังจากตรวจสอบพยานหลักฐาน ข้อกฎหมายและฎีกาแล้ว

ผมก็ตอบแบบฟันธงไปว่า..

" คดีนี้ป้าสู้คนขายได้สบาย แต่สู้ ส.ป.ก.ไม่ได้นะครับ "

คือสู้คดีชนะได้ แต่สุดท้ายป้ายังต้องไปวัดใจกับสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ( ส.ป.ก.) 

ว่า ส.ป.ก.จะยกที่ดินแปลงนี้ให้ใครต่อ..

ก็เลยให้คำแนะนำป้าไปว่า ป้ามี 2 ทางเลือก คือ

1.เจรจาตกลงขายที่ดิน ส.ป.ก.คืนให้กับคนที่ขายในราคาที่เหมาะสม 
   เพราะถึงชนะคดีแต่ที่ดินก็ตกเป็นของสปก.ที่จะยกให้เกษตกรคนอื่นต่อไป
   ซึ่งป้าอาจได้ที่ดินแปลงนี้หรือ สปก.อาจยกให้คนอื่นก็ได้.. ( ได้ความสบายใจ )

2. สู้คดีชนะ ครอบครองทำกินต่อไป จนกว่า ส.ป.ก. จะมาฟ้องขับไล่ป้าและครอบครัว
    ออกจากที่ดินแปลงที่มีปัญหา..( ได้ที่ดินแต่ยังไม่สบายใจ )

ซึ่งปรากฎว่าคดีนี้ไม่สามารถเจรจาตกลงราคาซื้อคืนทีี่ดิน สปก.ได้..
เพราะคนขายก็อยากได้ที่ดินคืนแบบฟรี ๆ จึงต้องมีการยื่นคำให้การต่อสู้คดีกัน

ซึ่งคดีนี้ผมให้การต่อสู้คดีไว้หลักๆ 3 ประเด็น ด้วยกันคือ

1.โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่ใช่ผู้เสียหาย 
    เนื่องจากโจทก์ได้จำหน่าย จ่ายโอน สิทธิในการทำประโยชน์
   ในที่ดิน ส.ป.ก.แล้ว ทำให้โจทก์สิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์
   ในที่ดิน ส.ป.ก.ทันที นับแต่วันขายที่ดิน ส.ป.ก.และส่งมอบการครอบครอง
   ให้กับจำเลย ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ข้อ 11

"""ที่ดินกลับไปเป็นของ ส.ป.ก. แล้วไม่ใช่ของโจทก์อีกต่อไป"""

2.โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุุจริต เนื่องจากโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดิน สปก.
   กฎหมายห้ามซื้อขายกัน แต่โจทก์กลับนำที่ดินสปก.ไปขาย
   อันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้นแล้ว
   โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเพื่อจะเอาที่ดิน สปก.คืน แบบฟรี ๆ 
    อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
   โดยใช้ศาลเป็นเครื่องมือ..

3.คดีโจทก์ขาดอายุความ..เรื่องลาภมิควรได้...แล้ัว


สุดท้ายคดีนี้ สืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จ...

ศาลชั้นต้น พิพากษาว่า "  ตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 
มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังบุคคลอื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ฯลฯ

นิติกรรมการซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จำเลยจึงไม่มีิสิทธิเข้าทำกินในที่ดิน สปก.

แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า.โจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทให้กับจำเลยแล้ว โจทก์มีเจตนาละทิ้งการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ดังกล่าวไป โจทก์ย่อมสิ้นสิทธการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ด่ินเพื่อเกษรกรรม....พ.ศ.2535 ข้อ 11 การครอบครองย่อมตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตกรรมอีกครั้ง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
            พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ."

โจทก์อุทธรณ์ ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 

ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น 
แต่ได้โปรดวินิจฉัยประเด็นเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของโจทก์
ไว้ว่า เห็นว่า โจทก์ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้จำเลยครอบครองและ
ทำประโยชน์ตลอดมา การที่โจทก์กลับมาอ้างว่า เป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์
ในเขตปฏิรูปที่ดินและฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต 
โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ พิพากษายกฟ้องโจทก์ 
ให้ชดใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลย 3,000 บาท...

สรุปคดีนี้ คนซื้่อที่ดิน สปก.ชนะครับ...

ข้อกฎหมาย ระเบียบ สปก.ที่เกี่ยวข้องและฎีกาที่ใช้ในการต่อสู้คดีนี้

1.ที่ดิน สปก.ห้ามซื้อขาย...ตาม พรบ.การปฎิรูปเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39

2.ทีี่ดิน สปก.ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ห้ามคนซื้อยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับ ส.ป.ก.
   ในเรื่องที่ดินที่ ส.ป.ก.ได้มาตาม พรบ.การปฎิรูปเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 37

3.การสิ้นสิทธิของผู้มีชื่อใน ส.ป.ก.ทันที ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 
   ว่าด้วยการให้เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 
   ปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ.2535 ข้อ 11

4.สัญญาซื้อขายที่ดิน สปก.ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

5.ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องลาภมิควรได้
  มาใช้บังคับ ตาม ประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172

ุ6.อายุความเรื่องการคืนที่ดิน สปก.ตามหลักลาภมิควรได้ มีอายุความ 1 ปี 

7.การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5


ฎีกาที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายที่ดิน สปก.

ฎีกาที่ 2180/2545 การที่โจทก์ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
ให้จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา การที่โจทก์กลับมาอ้างว่า 
เป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินและ
มาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต 

ฎีกาที่ 2293/2552 การซื้อขายที่ดิน สปก.ตกเป็นโมฆะ 
ที่ดิน สปก ตกกลับมาเป็นของ ส.ป.ก.อีกครั้ง
ส.ป.ก.มีอำนาจมอบให้คนอื่นทำกินต่อไป 
จำเลยจะยกอายุความแย่งการครอบครองมาเกินกว่า 1 ปี กับ ส.ป.ก.ไม่ได้
ตาม พรบ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 37

ฎีกาที่ 10669/2546 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน สปก. ตกเป็นโมฆะ 
ให้คืนเงินเต็มจำนวนตามหลักเรื่องลาภมิควรได้..เมื่อจำเลยไม่ได้ยกอายุความเรื่องลาภมิควรได้
ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


สรุปที่ดิน ส.ป.ก.ห้ามซื้อขาย 

ซื้อขายแล้วจะมีปัญหา ไม่รุ่นพ่อแม่ ก็รุ่นลูกหลานคับ..

หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ..
ปล. ถ้าชอบให้กด Like ถ้าใช่กด Share แต่ถ้ารักให้กด Love

แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ


กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา

ทนายความศรีสะเกษ