ขายที่ดิน ส.ป.ก. แล้วจะมาฟ้องเอาคืนแบบฟรี ๆ ได้ด้วยหรือ ?
สวัสดีครับ ผมทนายธีรวัฒน์ นามวิชา ทนายความคนศรีสะเกษ
วันนี้มาดูปัญหาที่ชาวบ้าน ทึ่มีที่ดินอยู่ในเขต ส.ป.ก.
เช่น แถวอำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ บ้านผมเอง
ปัญหามีอยู่ว่า ชาวบ้านตกลงซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. กันเอง
โดยการส่งมอบการครอบครองที่ดินให้กับคนซืิ้อ พร้อมต้นฉบับ ส.ป.ก.4-01
เเละมีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเป็นหลักฐาน...
โดยตอนซื้อขายที่ดิน สปก. ก็เข้าใจดีทั้งสองฝ่ายว่าทีี่ดิน สปก.ห้ามซื้อขายกันตามกฎหมาย
แต่ก็อาศัยความไว้วางใจกันว่า ซื้่อแล้วจะไม่เอาคืน....
...บางคนก็มีการทำสัญญากู้ยืมเงินไว้เพื่อเป็นหลักประกันป้องกันการเอาที่ดินคืน...
แต่วันดี คืนดีคนขาย หัวหมอ
มาฟ้องเอาคืนที่ดิน สปก.4-01
โดยจะไม่จ่ายเงินคืนให้กับคนซื้อชักบาท...
จะได้ทั้งเงิน จะได้ทั้งที่ดิน สปก.คืนแบบฟรี ๆๆ
เงินทองบังตา ทำให้ลืมสัญญาทีี่เคยให้ไว้...
คนแบบนี้น่าคบหาจริงๆ ...
คนซื้อ ซึ่งเป็นญาติพี่น้องก็เลยมาปรึกษาว่า
ท่านทนายเขาฟ้องเอาที่ สปก.คืน จะสู้เขาได้หรือเปล่านี้ ??
หลังจากตรวจสอบพยานหลักฐาน ข้อกฎหมายและฎีกาแล้ว
ผมก็ตอบแบบฟันธงไปว่า..
" คดีนี้ป้าสู้คนขายได้สบาย แต่สู้ ส.ป.ก.ไม่ได้นะครับ "
คือสู้คดีชนะได้ แต่สุดท้ายป้ายังต้องไปวัดใจกับสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ( ส.ป.ก.)
ว่า ส.ป.ก.จะยกที่ดินแปลงนี้ให้ใครต่อ..
ก็เลยให้คำแนะนำป้าไปว่า ป้ามี 2 ทางเลือก คือ
1.เจรจาตกลงขายที่ดิน ส.ป.ก.คืนให้กับคนที่ขายในราคาที่เหมาะสม
เพราะถึงชนะคดีแต่ที่ดินก็ตกเป็นของสปก.ที่จะยกให้เกษตกรคนอื่นต่อไป
ซึ่งป้าอาจได้ที่ดินแปลงนี้หรือ สปก.อาจยกให้คนอื่นก็ได้.. ( ได้ความสบายใจ )
2. สู้คดีชนะ ครอบครองทำกินต่อไป จนกว่า ส.ป.ก. จะมาฟ้องขับไล่ป้าและครอบครัว
ออกจากที่ดินแปลงที่มีปัญหา..( ได้ที่ดินแต่ยังไม่สบายใจ )
ซึ่งปรากฎว่าคดีนี้ไม่สามารถเจรจาตกลงราคาซื้อคืนทีี่ดิน สปก.ได้..
เพราะคนขายก็อยากได้ที่ดินคืนแบบฟรี ๆ จึงต้องมีการยื่นคำให้การต่อสู้คดีกัน
ซึ่งคดีนี้ผมให้การต่อสู้คดีไว้หลักๆ 3 ประเด็น ด้วยกันคือ
1.โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่ใช่ผู้เสียหาย
เนื่องจากโจทก์ได้จำหน่าย จ่ายโอน สิทธิในการทำประโยชน์
ในที่ดิน ส.ป.ก.แล้ว ทำให้โจทก์สิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์
ในที่ดิน ส.ป.ก.ทันที นับแต่วันขายที่ดิน ส.ป.ก.และส่งมอบการครอบครอง
ให้กับจำเลย ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ข้อ 11
"""ที่ดินกลับไปเป็นของ ส.ป.ก. แล้วไม่ใช่ของโจทก์อีกต่อไป"""
2.โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุุจริต เนื่องจากโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดิน สปก.
กฎหมายห้ามซื้อขายกัน แต่โจทก์กลับนำที่ดินสปก.ไปขาย
อันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้นแล้ว
โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเพื่อจะเอาที่ดิน สปก.คืน แบบฟรี ๆ
อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
โดยใช้ศาลเป็นเครื่องมือ..
3.คดีโจทก์ขาดอายุความ..เรื่องลาภมิควรได้...แล้ัว
สุดท้ายคดีนี้ สืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จ...
ศาลชั้นต้น พิพากษาว่า " ตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังบุคคลอื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ฯลฯ
นิติกรรมการซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จำเลยจึงไม่มีิสิทธิเข้าทำกินในที่ดิน สปก.
แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า.โจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทให้กับจำเลยแล้ว โจทก์มีเจตนาละทิ้งการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ดังกล่าวไป โจทก์ย่อมสิ้นสิทธการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ด่ินเพื่อเกษรกรรม....พ.ศ.2535 ข้อ 11 การครอบครองย่อมตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตกรรมอีกครั้ง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ."
โจทก์อุทธรณ์ ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3
ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น
แต่ได้โปรดวินิจฉัยประเด็นเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของโจทก์
ไว้ว่า เห็นว่า โจทก์ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้จำเลยครอบครองและ
ทำประโยชน์ตลอดมา การที่โจทก์กลับมาอ้างว่า เป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์
ในเขตปฏิรูปที่ดินและฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ พิพากษายกฟ้องโจทก์
ให้ชดใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลย 3,000 บาท...
สรุปคดีนี้ คนซื้่อที่ดิน สปก.ชนะครับ...
ข้อกฎหมาย ระเบียบ สปก.ที่เกี่ยวข้องและฎีกาที่ใช้ในการต่อสู้คดีนี้
1.ที่ดิน สปก.ห้ามซื้อขาย...ตาม พรบ.การปฎิรูปเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39
2.ทีี่ดิน สปก.ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ห้ามคนซื้อยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับ ส.ป.ก.
ในเรื่องที่ดินที่ ส.ป.ก.ได้มาตาม พรบ.การปฎิรูปเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 37
3.การสิ้นสิทธิของผู้มีชื่อใน ส.ป.ก.ทันที ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ว่าด้วยการให้เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ.2535 ข้อ 11
4.สัญญาซื้อขายที่ดิน สปก.ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
5.ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องลาภมิควรได้
มาใช้บังคับ ตาม ประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172
ุ6.อายุความเรื่องการคืนที่ดิน สปก.ตามหลักลาภมิควรได้ มีอายุความ 1 ปี
7.การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5
ฎีกาที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายที่ดิน สปก.
ฎีกาที่ 2180/2545 การที่โจทก์ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
ให้จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา การที่โจทก์กลับมาอ้างว่า
เป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินและ
มาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ฎีกาที่ 2293/2552 การซื้อขายที่ดิน สปก.ตกเป็นโมฆะ
ที่ดิน สปก ตกกลับมาเป็นของ ส.ป.ก.อีกครั้ง
ส.ป.ก.มีอำนาจมอบให้คนอื่นทำกินต่อไป
จำเลยจะยกอายุความแย่งการครอบครองมาเกินกว่า 1 ปี กับ ส.ป.ก.ไม่ได้
ตาม พรบ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 37
ฎีกาที่ 10669/2546 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน สปก. ตกเป็นโมฆะ
ให้คืนเงินเต็มจำนวนตามหลักเรื่องลาภมิควรได้..เมื่อจำเลยไม่ได้ยกอายุความเรื่องลาภมิควรได้
ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สรุปที่ดิน ส.ป.ก.ห้ามซื้อขาย
ซื้อขายแล้วจะมีปัญหา ไม่รุ่นพ่อแม่ ก็รุ่นลูกหลานคับ..
หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ..
ปล. ถ้าชอบให้กด Like ถ้าใช่กด Share แต่ถ้ารักให้กด Love
แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ
กฎหมายเพื่อความสุข
ทนายธีรวัฒน์ นามวิชา
ทนายความศรีสะเกษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น