อุทาหรณ์สอนใจจำเลย
จากตัวอย่างคดีดัง คดีตายายเก็บเห็ด
ไม่ใช่ศาลเจ้า...จะได้ถอนคำสาบาน ( คำให้การ ) ได้ตามใจชอบ
สวัสดีครับ ผมทนายความธีรวัฒน์ นามวิชา ทนายความ ณ เมื่องศรีสะเกษ
วันนี้ผมขอยกอุทาหรณ์สอนใจจำเลย จากคดีดัง คดีตายายเก็บเห็ด
ว่าด้วยการให้การในคดีอาญา การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำให้การในคดีอาญา
จากตัวอย่างคดี ของตายายเก็บเห็ด คดีนี้
๑.ในชั้นสอบสวน ตากับยายให้การปฏิเสธ ว่าไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา
๒.ในชั้นศาลชั้นต้น อัยการส่งฟ้อง ตากับยายให้การรับสารภาพว่าทำผิดตามฟ้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นตัดสินโดยไม่ต้องสืบพยาน..ถือเอาข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ และคำรับสารภาพของ
ตากับยาย รับฟังว่าตากับยายทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษาลงโทษ ๓๐ ปี
รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุกคนละ ๑๕ ปี
๓. ในชั้นศาลฎีกา ตากับยายให้การปฎิเสธ ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ที่ตากับยายให้การรับสารภาพในศาลชั้นต้นนั้น ความจริงแล้วตากับยายไม่ได้สมัครใจให้การรับสารภาพ เนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพและโดนหลอกจากบุคคลอื่นว่า ถ้ารับสารภาพแล้วศาลจะไม่ให้ติดคุก คดีตายายแค่ปรับ
จ่ายค่าปรับแล้วก็กลับบ้านได้" ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการจำเลยทั้งสองจึงให้การรับสารภาพ
แต่สุดท้ายศาลฎีกา พิพากษาลงโทษตากับยาย คนละ ๕ ปี โดยไม่รอลงอาญา
โดยศาลฎีกาไม่รับฟังคำให้การปฎิเสธของตากับยาย เนื่องจากให้ตากับยายได้ให้การรับสารภาพ
ในศาลชั้นต้น จนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว....
การที่ศาลฎีกาไม่ยอมรับฟังคำให้การปฏิเสธของตายายในชั้นฎีกา เนื่องจากมีกฎกติกา
ของศาลกำหนดไว้ในการพิจารณาตัดสินคดี ตามกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา
ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ที่ศาลฎีกาหยิบขึ้นมาให้เหตุผลในการตัดสินคดีนี้ มีดังต่อไปนี้
๑ ) คดีนี้ตากับยายให้การรับสารภาพในศาลชั้นต้นเป็นไปโดยชอบแล้ว
การที่จำเลยอ้างว่าหลงเชื่อบุคคลภายนอกว่ารับสารภาพมีโทษแค่ปรับนั้น ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า
เป็นความเข้าใจผิดของจำเลยทั้งสองเอง ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้
แต่ถ้าเป็นคำให้การรับสารภาพที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถเปลี่ยนได้..
๒ ) คดีตายายเก็บเห็ด ไม่ใช่คดีทีี่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป
การที่จำเลยทั้งสอง ( ตากับยาย ) ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่ง
๓ ) ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงขัดกับคำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสอง ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้้นต้นและศาลอุทธรณ์ ภาค ๔
ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕
ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สรุปคือ คดีนี้ตายายเก็บเห็ดไม่สามารถเปลี่ยนคำให้การรับสารภาพในศาลชั้นต้นที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว มาให้การปฎิเสธในศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาได้ว่า ไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง แค่ไปเก็บเห็ด
ไม่ได้ไปตัดป่า ทำผิดตามฟ้อง ตามที่เคยให้การรับสารภาพไว้นั้น
เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย....ห้ามมิให้ฎีกาว่าไม่ได้ทำผิด....
แล้วจริงๆ ตากับยายเก็บเห็ด หรือจำเลยคนอื่นๆ
สามารถ ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำให้การในชั้นศาลได้หรือเปล่า ??
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๓ วรรคสอง กำหนดว่า
" เมื่อมีีเหตุอันสมควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอเเก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา
ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาต ก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์ "
จากหลักกฎหมายดังกล่าว กำหนดเวลาขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยไว้ดังนี้
๑. จำเลยสามารถยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา
คือก่อนศาลอ่านคำพิพากษา
๒. แม้สืบพยานโจทก์จำเลยและนัดฟังคำพิพากษาแล้ว
ก็ยังขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การได้ ( ฎ.๒๗๑๔/๑๕๒๖ ) ดังนั้นก่อนศาลอ่านคำพิพากษา ก็ยังเปลี่ยนคำให้การจากรับสารภาพเป็นให้การปฎิเสธ หรือจากให้การปฎิเสธมาเป็นให้การรับสารภาพก็ได้...
๓. แต่หากศาลเห็นว่าจำเลยขอถอนคำให้การเพื่อประวิงคดี ถือว่าไม่มีเหตุสมควร
ศาลไม่อนุญาตได้ ( ฎ.๖๒๑๔-๖๒๑๖/๒๕๔๔ )
สรุปสุดท้าย
จำเลยสามารถยื่นคำขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การได้ตลอดเวลา
ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา ถ้ามีเหตุอันสมควร....
ถ้าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจะขอแก้เปลี่ยนแปลงหรือ
เพิ่มเติมคำให้การไม่ได้แล้วนะครับ....
บทความที่เกี่ยวข้อง
โอกาสรอดเมื่อรับสารภาพในคดีอาญา
แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับ
กฎหมายเพื่อความสุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น