วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การสูญเสียสิทธิในการรับมรดก เพราะถูกกำจัดมิให้รับมรดก การถูกตัดมิให้รับมรดก การสละมรดก

การสูญเสียสิทธิในการรับมรดก

การถูกตัดมิให้รับมรดก



ภาพประกอบ การถูกตัดมิให้รับมรดก

ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม
อาจเสียสิทธิในการรับมรดกได้ด้วยเหตุดังต่อไปนี้

             ๑. ถูกจำกัดมิให้รับมรดก 

             ๒. ถูกตัดมิให้รับมรดก

             ๓. การสละมรดก

             ๔. การมิได้ถือเอาทรัพย์มรดกหรือ
                  ไม่ได้ฟ้องเรียกมรดกภายในอายุความ

๑.การถูกจำกัดมิให้รับมรดก  มีอยู่ ๒ กรณี ตามมาตรา ๑๖๐๕ และ ๑๖๐๖

                  ๑.๑ การถูกกำจัดมิให้รับมรดกเพราะทายาทยักย้ายหรือปิดปังทรัพย์มรดก ตามมาตรา ๑๖๐๕  "ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้รับหรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
                   มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น "

การปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดก ต้องเป็นการทำหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว ทำให้ทายาทคนอื่นเสียหาย...

                  ๑.๒ การถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรจะรับมรดก  ตามมาตรา ๑๖๐๖ 
" บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(๑) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำหรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าเป็นการกระทำผิดฐานฆ่าโดยไม่เจตนา หรือฐานประมาทเป็นเหตุให้ตาย หรือเป็นการกระทำโดยพลาดหรือเป็นการป้องกันตัวนั้น ยังมีสิทธิรับมรดกได้

(๒) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ เป็นกรณีที่ทายาทฟ้องคดีด้วยตนเองหรือเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ แต่ถ้าเป็นพนักงานอัยการเป็นโจทก์ เเม้เป็นผู้แจ้งความก็ไม่เป็นความผิด ( ผู้เสียหาย )

(๓) ผู้ที่รู้อยู่แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาผู้ทำผิดมาลงโทษ ต้องเป็นกรณีที่ทายาทรู้ว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่หากเป็นการกระทำโดยประมาทหรือโดยไม่เจตนา ทายาทไม่แจ้งความร้องเรียนก็ไม่ผิด ไม่เสียสิทธิในการรับมรดก

(๔) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น 

(๕) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด

เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้ โดยให้อภ้ัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  เมื่อเจ้ามรดกถอนแล้ว ให้อภัยแล้ว ทำให้ผู้ถูกกำจัดพ้นจากการถูกกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควร ทำให้มีสิทธิได้รับมรดกตามเดิม 

ผลของการถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัว ให้ถือว่าผู้ถูกกำจัดได้ตายแล้ว ให้ทายาทผู้ถูกกำจัดสิทธิ เข้ามารับมรดกแทนที่ต่อไปได้ ตามมาตรา ๑๖๐๗

๒.การตัดมิให้รับมรดก  ตามมาตรา ๑๖๐๘ การสูญเสียสิทธิในการรับมรดก เนื่องจากถูกเจ้ามรดกตัดออกจากกองมรดกนั้น เจ้ามรดกสามารถตัดทายาทโดยธรรมของตนออกจากกองมรดกได้โดย 
   (๑) ตัดไม่ให้รับมรดกโดยพินัยกรรม
   (๒) ตัดมิให้รับมรดกโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ 

ผลของการตัดมิให้รับมรดก ทำให้ทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก สูญเสียสิทธิในการรับมรดกตลอดไปและเป็นการตัดตลอดสาย คือทายาทของผู้ถูกตัดออกจากกองมรดก จะไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้

แต่เจ้ามรดกสามารถ ถอนการตัดมิให้รับมรดกได้ ทำให้ทายาทกลับมามีสิทธิได้รับมรดกตามเดิม ได้ตามมาตรา ๑๖๐๙

๓.การสละมรดก  การสูญเสียสิทธิในการรับมรดก เนื่องจากการสละมรดกนั้น กฎหมายได้กำหนดแบบของการสละมรดกไว้ในมาตรา ๑๖๑๒ ว่า " การสละมรดกนั้นต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ "

ตามกฏหมายมาตราดังกล่าว การสละมรดกจึงต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด คือ

๑ ) แสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือแล้วมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่   ถ้าไม่ได้มอบไว้แก่เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ใช้ไม่ได้ เช่น มอบให้ทายาทด้วยกันเองว่าไม่ต้องการทรัพย์มรดกแล้ว...


๒ ) การสละมรดกโดยทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ  คือ การที่ทายาทคนหนึ่งทำความตกลงระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดกกับทายาทคนอื่น โดยที่ทายาทคนนั้นยอมสละมรดกส่วนที่ตกแก่ตนทั้งหมดให้เป็นประโยชน์แก่ทายาทอื่นทุกคน และทายาทคนอื่นย่อมให้ประโยชน์อย่างอื่นทดแทน

การสละมรดก ตามมาตรา ๑๖๑๒ ต้องเป็นการสละมรดกทั้งหมดของตนให้กับทายาทคนอื่นทุกคน 
ถ้าเป็นการสละให้กับทายาทคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ก็จะเป็น การให้ แลกเปลี่ยน หรือซื้อขาย ไป

การสละมรดก ต้องเป็นการสละมรดกทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา  ตามมาตรา ๑๖๑๓ จะสละมรดกเพียงบางส่วน หรือโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ 

การสละมรดกจะสละสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการรับมรดกของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ตามมาตรา ๑๖๑๙ การสละมรดกจะต้องทำขึ้นเมื่อเจ้ามรดกถึ่งแก่ความตายแล้วเท่านั้น จะทำล่วงหน้าก่อนเจ้ามรดกตายไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตามมาตรานี้

การสละมรดกของเด็ก ่ของผู้หย่อนความสามารถจะกระทำไม่ได้  เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีและได้รับอนุมัติจากศาลแล้วเท่านั้น ตามมาตรา ๑๖๑๑

ผลของการสละมรดก ตามมาตรา ๑๖๑๕ ให้มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย ทำให้ผู้สละมรดกไม่มีฐานะเป็นทายาทตั้งแต่เจ้ามรดกตาย และให้ผู้สืบสันดานของผู้สละมรดกมีสิทธิสืบมรดกได้

การขอเพิกถอนการสละมรดก  โดยปรกติจะทำไม่ได้เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาตให้เพิกถอนการสละมรดกได้ตามมาตรา ๑๖๑๓ วรรคสอง แต่ถ้าเป็นการสละมรดกโดยฉ้อฉลเจ้าหนี้ กฎหมายอนุญาตให้เพิกถอนการสละมรดกในกรณีนี้ได้ เพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับประโยชน์ในการรับการชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของลูกหนี้ ของทายาทที่สละมรดก ได้สละนั้น 

ทั้งนี้ผู้มีสิทธิขอเพิกถอนการสละมรดกก็คือ เจ้าหนี้ ตามมาตรา ๑๖๑๔ 

การสูญเสียสิทธิในการรับมรดก กรณีสุดท้าย คือ

๔.  การมิได้ถือเอาทรัพย์มรดกหรือไม่ได้ฟ้องเรียกมรดกภายในอายุความ ตามมาตรา ๑๗๕๔  การที่ทา่ยาทไม่ได้เข้าครอบครองหรือไม่ได้ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกภายในอายุความ ๑ ปี ทำให้ทายาทเสียสิทธิในการรับมรดก เพราะฟ้องไปก็แพ้ หากทายาทอีกฝ่ายยกอายุความขั้นต่อสู้

สิทธิของการรับมรดกและการเสียสิทธิในการรับมรดก นั้นมีอยู่ตามกฎหมาย
ขอให้เพื่อนๆ ดูแลรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเองและของญาติพี่น้องให้ดีดีนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง



แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับ


หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆ นะครับ

ปล. ชอบกด Like ใช่กด Share รักกด Love 


กฎหมายเพื่อความสุข


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น