คดีนี้ ทำไมศาลจึงรับฟังแต่พยานโจทก์ พยานตำรวจ
ที่กล่าวหาว่าตายายไปบุกรุกแผ้วถางป่า ตัดไม้สัก
ครอบครองไม้สักโดยผิดกฎหมาย
แต่ไม่รับฟังข้อเท็จจริง ที่ตายายกล่าวอ้างเลยว่า "ไปเก็บเห็ด"
วันนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา คดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อีกคดีหนึ่ง
คือ "คดีตายายเก็บเห็ด" โดยศาลฎีกาได้พิพากษาว่าคุณตากับคุณยายมีความผิด
ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินมา แต่พิพากษาลดโทษให้จากเดิม 14 ปี 12 เดือน
ลดเหลือคนละ 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา.
หลังจากที่ผมได้อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มแล้ว ก็เลยขอสรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่่ศาลใช้ในการตัดสินคดีให้เพื่อนๆ ฟังกันนะครับ
เรื่องแรกคือ เรื่องปัญหาข้อเท็จจริงในคดีนี้จะมีข้อเท็จจริงอยู่ 2 ชุดด้วยกันคือ
1. ข้อเท็จจริงตามที่ตำรวจกล่าวหา ตามที่พนักงานอัยการสั่งฟ้อง คือ ตายายไปบุกรุกแผ้วถาง
ครอบครองพื้นที่ป่าจำนวน 72 ไร่ และตัดต้นไม้สัก ครอบครองไม้สักโดยผิดกฎหมาย
2.ข้อเท็จจริงตามที่ตายายกล่าวอ้าง ว่าขี่จักรยานยนต์ไปจอดไว้ เพื่อไปเก็บเห็ดเท่านั้น
ไม่ได้ทำผิดตามที่เจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาแต่อย่างใด โดยให้การปฏิเสธไว้ในชั้นสอบสวน
ซึ่งข้อเท็จจริงทั้ง 2 อย่างดังกล่าวนั้น ยังไม่มีการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ความจริงว่า
อันไหนจริง อันไหนเท็จแต่อย่างใด ?
ดังนั้นคดีนี้ยังไม่ทราบความจริงว่า ตายายบุกรุกป่าจริงหรือว่าตายายไปเก็บเห็ดจริง
เพราะคดีตายายเก็บเห็ด ศาลตัดสินได้โดยไม่ต้องสืบพยาน เนื่องจาก
คดีนี้ เมื่ออัยการโจทก์ส่งฟ้องตายายทั้งสองต่อศาล เมื่อศาลอ่านคำฟ้องและ
ถามคำให้การของตากับยายแล้ว ตากับยายให้การรับสารภาพต่อศาลว่าทำผิดจริงตามฟ้อง
เพราะตายายคิดไปเองว่า คดีนี้รับสารภาพแล้วศาลท่านคงเมตตาลงโทษแค่ปรับไม่ติดคุก
จากคำแนะนำของใครก็ไม่รู้....
เมื่อตากับยายให้การรับสารภาพว่าทำผิดตามฟ้อง ศาลท่านก็ต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายต่อไปคือ
เมื่อคดีนี้ไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษให้จำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป
การที่ตากับตายให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาต่อศาล
ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานต่อไปได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา มาตรา ๑๗๖ วรรคหนี่ง...
ศาลชั้นต้น จึงได้มีคำพิพากษาว่า ตากับยายมีีความผิดจริงตามฟ้อง
ข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่าสงวน จำคุกคนละ ๑๑ ปี
ฐานมีไม้สักไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ ๑๙ ปี รวมคนละ ๓๐ ปี
จำเลยคือตากับยายให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา
มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกคนละ ๑๕ ปี
ตากับยายอุทธรณ์ คดี
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็น คงจำคุกคนละ ๑๔ ปี ๑๒ เดือน
๑๔ ปี ๑๒ เดือน ...ก็ ๑๕ ปีหรือเปล่า ??? เพื่อนๆ อาจงง กับภาษากฎหมาย
ต่อมาญาติของตากับยาย ได้ไปร้องเรียนคดีนี้กับนักข่าว ว่าตากับยายไม่ได้ไปบุกรุกป่า
แค่ไปเก็บเห็ดเท่านั้น จึงเป็นที่มาของชื่อคดี "คดีตายายเก็บเห็ด"
ต่อมาท่านทนายสงกรานต์ ได้เข้ามาช่วยเหลือตายายในคดีนี้
ในการยื่นเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกาคดี
โดยฎีกาต่อสู้คดีว่า
๑. ตากับยายไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง จำเลยหลงเชื่อบุคคลภายนอกว่าจำเลยรับสารภาพแล้วศาลจะปรับจำเลยทั้งสอง จำเลยไม่ค่อยได้ยินที่ศาลถามว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จำเลยไม่ได้สมัครใจให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณานั้น...
ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องสุขภาพของจำเลยทั้งสองนั้นมีพิรุธน่าสงสัยรับฟังเป็นความจริงไม่ได้...
แต่การพิจารณาคดีของศาลกระทำโดยเปิดเผย ตามรายงานกระบวนการพิจารณาและคำให้การของจำเลยทั้งสองก็มีข้อความว่า " จำเลยท้ั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการและลงลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองไว้ด้วย
เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฎว่าจำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจแด่อย่างใดและเป็นความเข้าใจของจำเลยทั้งสองเอง ( น่าจะเป็นเรื่องที่ว่ารับสารภาพแล้วคงแค่ปรับ ) ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้
ศาลฎีการับฟังว่า การที่ตากับยายให้การรับสารภาพทีี่ศาลชั้นต้นนั้น ให้การด้วยความสมัครใจ ชอบแล้ว
การที่ตากับยาย ฏีกาว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง จึงเป็นการขัดกับคำให้การที่ได้ให้การไว้ทีี่ศาลชั้นต้น
ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาเเล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ต้องห้ามมิให้ฎีกา
๒.ประเด็นเรื่องการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบ เพราะไม่ได้แจ้งพฤติการณ์และรายละเอียดในการกระทำความผิดตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบ การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น
เห็นว่าตามสำเนาบันทึกคำให้การของผู้ต้องหานั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและได้แจ้งถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาแล้ว จนผู้ต้องหาทั้งสองคือตากับยายก็เข้าใจดีแล้ว
จึงให้การปฎิเสธ
การสอบสวนชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
๓.ตากับยายฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า
การตัดไม้ทำลายป่าดังกล่าวทำเป็นขบวนการ ส่งผลกระทบต่อป่าอยากแก่การฟื้นฟู่ให้กลับคืนดีดังเดิม ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม ถือว่าเป็นเรื่องรา้ยแรง
กรณีจึงไม่เหตุที่จะรอการลงโทษแก่จำเลยทั้งสอง
แต่การที่ตากับยายยอมเข้ามอบตัวเพื่อให้ดำเนินคดีต่อไปและสมัครใจให้การรับสารภาพตามฟ้อง
กรณีมีเหตุผลสมควรกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสองให้น้อยลงเพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี
ศาลฎีกา พิพากษาแก้เป็น ฐานร่วมกันทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ ๔ ปี ฐานครอบครองไม้สักโดยผิดกฎหมาย จำคุกคนละ ๖ ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุกคนละ ๕ ปี โดยไม่รอลงอาญา
สรุปสุดท้าย
คดีตายายเก็บเห็ด ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตากับยายคนละ ๕ ปี โดยไม่รอลงอาญา
ว่าไปตามข้อเท็จจริงตามฟ้อง ตามคำรับสารภาพของตากับยายในศาลชั้นต้นและตามข้อกฎหมาย
กฎกติกาในการพิจารณาคดี...
ไม่ยอมรับฟังคำปฎิเสธของตากับยายว่าไปเก็บเห็ด
เนื่องจากกฎหมายปิดปาก ห้ามไม่ให้รับฟังไว้...
ดังนั้นความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว...ยังไม่รู้ว่าตายายไปเก็บเห็ดหรือไปบุกรุกแผ้วถางป่ากันแน่
ดังนั้นคดีตายายเก็บเห็ด อาจมีภาค ๒
เพราะท่านทนายสงกรานต์ บอกว่าจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่
และกำลังทำเรื่องขอพักโทษให้ตากับยายอยู่....
สุดท้ายอยากบอกว่า
ความยุุติธรรมที่แท้จริงคือการปล่อยให้คู่ต่อสู้ได้ต่อสู้กันได้อย่างเต็มที่โดยมีอาวุธที่เท่าเทียมกัน
โดยมีศาลเป็นคนกลางนั่งดูเพื่อคอยตัดสิน....บนกฎหมายที่ยุติธรรม เพราะถ้ากฎหมายไม่ยุติธรรม
ไม่เป็นธรรมเเล้ว ก็คงอยากที่จะหาความยุติธรรมได้...
แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับ
กฎหมายเพื่อความสุข
ทนายธีรวัฒน์ นามวิชา
ทนายความศรีสะเกษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น