วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

การรับรองบุตร

การรับรองบุตรนอกสมรสให้ชอบด้วยกฎหมาย


ทับไม่ร้อง...ท้องไม่รับ

เท่ากับเป็นบุตรนอกกฎหมาย..

กฎหมายเพื่อความสุข...

ไปร้องขอรับรองบุตรซิครับ...





เด็กที่เกิดจากมารดาที่ไม่ได้
จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
..ย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ
มารดาเท่านั้น

แต่เป็นได้แค่บุตรนอกกฎหมายหรือ
บุตรนอกสมรสของบิดา หรือ
บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วเท่านั้นนะคับ

&& วิธีเปลี่ยนบุตรนอกกฎหมายหรือ
บุตรนอกสมรส ให้กลายเป็นบุตรชอบ
ด้วยกฎหมายของบิดา

ทำได้ 2 ภาค 3 วิธีด้วยกัน คือ

2 ภาค ก็คือภาคสมัครใจ กับ ภาคบังคับ
( ภาษาผมเองนะครับ ยืมมาจากประกันภัย )

ส่วน 3 วิธี ตามกฎหมายแพ่ง มาตรา 1547 ก็คือ

1.บิดามารดาไปจดทะเบียนสมรสกันภายหลัง
ไม่ว่าเด็กจะมีอายุเท่าใดก็ตาม และมีผลให้เป็น
บุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดานับแต่วันที่เด็กเกิด

2.บิดาไปจดทะเบียนว่าเป็นบุตร ตามมาตรา 1547
และมีผลให้บุตรนอกสมรสกลายเป็นบุตรชอบด้วย
กฎหมายของบิดานับแต่วันที่เด็กเกิด

สำหรับวิธีการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรนั้น
ให้ไปยื่นเรื่องจดทะเบียนรับรองบุตรที่อำเภอหรือเขตนะครับ
โดยต้องได้รับจากทั้งเด็กและมารดาของเด็กด้วย

ถ้าเด็กหรือมารดาของเด็กไม่ให้ความยินยอม หรือ
ไม่อาจให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กเพิ่งเกิด ยังไม่รู้ภาษาเป็นต้น
การจดทะเบียนเป็นบุตร ก็ต้องอาศัยคำพิพากษาของศาล
เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถดำเนินการให้ได้

3.ขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร อันนี้ผมขอเรียกว่า
เป็นภาคบังคับก็เเล้วกันนะคับ...
เป็นการรับรองบุตรโดยคำพิพากษาของศาล
โดยการยื่นคำร้องขอรับรองบุตรต่อศาล
มีผลเมื่่อคำพิพากษาศาลถึงที่สุด..

ข้อนี้ใช้สิทธิได้ทั้งพ่อ แม่ ลูก โดยใช้ข้อสันนิษฐาน
ตามกฎหมายเเพ่ง มาตรา 1555
ซึ่งมีอยู่ 7 ประการด้วยกัน คือ

1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า
หรือหน่วงเหนี่ยวกักขัง
หญิงมารดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

2)เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาว
หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาใน
ระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

3)เมื่อเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน

4)เมื่อปรากฎในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตร
โดยมีหลักฐานว่า บิดานั้นเป็นผู้แจ้งการเกิด
หรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งการเกิดนั้น
เช่น เซ็นต์สำเนาบัตรประชาชน
ทะเบียนบ้านให้เขาไปแจ้งเกิด

5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผย
ใครๆ ก็รู้กันว่าเป็นสามีภริยากัน

6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดา
ในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้
เป็นบุตรของชายอื่น

7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร
เช่นให้ใช้นามสกุล ให้ความอุปการะเลี้ยงดู ส่งให้เรียน
ให้เรียกว่าพ่อ พ่อๆๆ เป็นต้น

เมื่อเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาแล้ว

- ทำให้บิดามีอำนาจปกครองบุตรได้

- ทำให้บิดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร
ถ้าไม่จ่าย มารดาหรือบุตร สามารถเลี้ยงค่าเลี้ยงดูได้
โดยสามารถเรียกย้อนหลังได้ถึงวันที่บุตรเกิดเลยนะคับ

ส่วนบุตรนอกกฎหมายทีี่บิดารับรองโดยพฤตินัยนั้น
ทำให้บุตรคนดังกล่าวมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้
ตามมาตรา 1627
แต่ยังไม่ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนะครับ
ทำให้บิดาไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะอุปการะเลี้ยงดู

หากบิดาไม่อุปการะเลี้ยงดู บุตรนอกกฎหมาย
ก็ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจาก
บิดานอกกฎหมายได้

และทำให้บุตรคนดังกล่าว
ไม่สามารถฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ
จากผู้ทำละเมิดเป็นเหตุให้บิดาตายได้
แต่ฟ้องเรียกค่าปลงศพได้นะครับผม...

และสำหรับมนุษย์เงินเดือน
ที่ต้องจ่ายประกันสังคมกันทุกเดือนนั้น
หากผู้ประกันตนได้ถึงแก่ความตาย...

บุตรหรือบิดานอกกฎหมาย
สามารถขอเบิกเงินค่าทำศพได้ แต่
ไม่สามารถขอเบิกเงินบำเหน็จ
กรณีชราภาพได้นะครับ...
ต้องมาร้องศาลให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก่อน

บุตรหรือบิดาจึงจะสามารถขอเบิกเงินดังกล่าว
จากประกันสังคมได้...

กฎหมายเพื่อความสุข...
อย่าลืมแบ่งปันเรื่องราวดีดีนี้
ให้เพื่อนคุณนะครับ...
เขาอาจจำเป็นต้องใช้ก็ได้....

แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปคับ..

ธีรวัฒน์  นามวิชา

ทนายความพ่อลูกอ่อน


วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559

ภาษีรถเบนซ์ คุณตัน อิชิตัน


ภาษีรถเบนซ์คุณตัน ถ้าคุณโชคดี


ตอนนี้เห็นคุณตัน จัดโปรโมชั่น รับหน้าร้อน 

" อิชิตัน รหัสรวยเปรี้ยง รางวัลแห่งชีวิต 

รวมมูลค่ากว่า 83 ล้านบาท "

แจกคอนโด และรถเบนซ์อีกกว่า 28 คัน....






กฎหมายเพื่อความสุขวันนี้ ก็เลยขอพูดถึงเรื่อง

ภาษีรถเบนซ์ ของคุณตันกันดีกว่า....

ซึ่งจะมีภาษีที่ต้องเสียอยู่ คือ

1.ตอนได้รางวัล รถเบนซ์อิชิตันนะครับ
ซึ่งคุณตัน ภาสกรนที จะขับมาแจกคุณเอง
พร้อมออกข่าว ทุกคนก็น่าจะรู้ว่าคุณได้เบนซ์อิชิตัน
โดยเฉพาะหน่วยงานที่จัดเก็บภาษี คุณจึงหนีไม่พ้นแน่ ๆ

ซึ่งตอนรับรางวัลนะครับ
ก็จะมีภาษีหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ของราคารถยนต์

และพอสิ้นปี คุณก็ต้องนำเงินรางวัล
ไปคำนวณเสียภาษีส่วนที่เหลืออีกนะครับ

ถ้าโชคดีคุณตัน จ่ายภาษีเเทนคุณ ( อันนี้ไม่แน่ใจ ข่าวเขาว่ามา )
คุณก็ต้องนำเงินภาษีที่คุณตันจ่ายแทน
มาคำนวณเป็นรายได้เพื่อจ่ายภาษีด้วยนะครับ...
เพราะถือเป็นรายได้เหมือนกั

ภาษีตอนรับก็ประมาณนี้ละครับ มีเพื่อนๆ บางท่านเคยกล่าวไปแล้ว
ผมจะไม่ขอกล่าวโดยละเอียด

2. แต่ที่ผมจะกล่าวถึงวันนี้ เป็นภาษีตอนขายเบนซ์ ของคุณตัน....

เพราะรู้สึกว่ายังไม่มีใครพูดถึงกันนะครับ

สมมุติิว่าคุณขายรถเบนซ์อิชิตันได้ในราคา 3,000,000 บาท

คุณต้องเสียภาษี กี่บาท ??

คำตอบ คือ ไม่ต้องเสียภาษีสักบาทครับ...

ถ้าเรารู้เรื่องของเทคนิคทางภาษี

เพราะมันได้รับการยกเว้นภาษี นั้นเอง ดังนี้

2.1 ภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา ไม่ต้องเสีย เพราะว่ารถเบนซ์ที่เรา

ได้มาจากคุณตัน ถือว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ส่วนตัวที่เราใช้แล้ว

ถือว่าเป็น " การขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งใน

ทางการค้าหรือหากำไร" ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวม

คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร

ดังนั้นเทคนิคประหยัดภาษี เมื่อได้รับรถเบนซ์คุณตันมาแล้ว

ก็กรุณาใช้สัก 1 วัน 2 วัน หรือ 1 ปี ก็ถือว่าเป็นรถเบนซ์ใช้แล้ว

เวลาขายก็ไม่ต้องเสียภาษีคับ...

เทคนิคนี้ ท่านอาจารย์ รศ.เพิ่มบุญ แก้วเขียว
แนะนำมาตอนที่เรียนรามอยู่ครับ
แต่ยังไม่มีโอกาสได้ใช้เพราะยังไม่เคยได้รางวัลกับเขาคับ 5555

2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ไม่ต้องเสียนะคับบุคคลธรรมดาอย่างเรา

เพราะ กรณีบุคคลธรรมดา
ได้ขายสินค้าที่เป็นทรัพย์สินสิ่งของใช้ส่วนตัว
ตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากการขายสินค้าดังกล่าว
ไม่ได้กระทำในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ
ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร

เพราะเราไม่ได้มีอาชีพซื่้อขายรถยนต์นะครับก็เลยไม่ต้องเสีย....

ดูข้อกฎหมาย ข้อหารือภาษีอากรเรื่องนี้ได้ที่นี้คับ
http://www.rd.go.th/publish/22899.0.html

ก็คือ ปกติเรื่องภาษีถ้าอันไหนไม่แน่ใจว่าจะต้องเสียหรือไม่
เขาก็จะส่งเรื่องไปเพื่อให้กรมสรรพากรตอบมาคับ ...
ว่าเรื่องแบบนี้ต้องเสียภาษีหรือเปล่าคับ

หรือยกตัวอย่างง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก เวลาเพื่อนขาย
รถยนต์โตโยต้า มือสอง ต้องเสียภาษีหรือเปล่าคับ ก็ไม่ต้องเสีย...

แต่สุดท้ายก็ยังมีค่าอากรณ์แสตมป์
ในอัตราร้อยละ 1 บาท ต่อวงเงิน 200 บาท
ที่ต้องจ่ายเมื่อไปโอนรถเบนซ์ที่ ขนส่งนะคับ
อันนี้ถ้าไม่อยากจ่ายก็ตกลงให้คนซืิ้่อจ่ายแทนคับ...

สุดท้ายขอขอบคุณ ภาพถ่ายต้นฉบับจากเพจ

คุณตัน ภาสกรนที https://www.facebook.com/tanichitan/

ขอให้เพื่อนๆ โชคดีได้รถเบนซ์คุณตัน อิชิตัน ขับกันนะครั

กฎหมายเพื่อความสุข

ธีรวัฒน์ นามวิชา

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

คุกมีไว้ขังคนจนจริงหรือ??

คุกไทยมีไว้ขังคนจนจริงหรือ ??




คนจน แบบตายายเก็บเห็ดติดคุก 15 ปี 


คนรวยขับรถชนคนตาย ทำไมรอลงอาญา


ใครเป็นผู้กำหนดให้เป็นเช่นนี้ ศาล อัยการ ตำรวจ ทนายความ ฝ่ายนิติบัญญัติ สส. สว. สนช.

หรือฝ่ายบริหาร ที่มีนายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบ หรือ เราๆ ทุกคนที่เป็นประชาชนคนธรรมดา

กฎหมายนั้นเขียนขึ้นโดยคน ไม่ใช่มาจากพระเจ้า เราจึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้

เช่นที่เป็นข่าวมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อแก้กฎหมาย ให้คดีข่มขืน ได้รับโทษประหารชีวิตทุกกรณี เป็นต้น

วันนี้ผมในฐานะทนายความตัวเล็กๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมน้้น ซึ่งไม่มีอำนาจเพียงพอท่ี่จะไปเเก้ไขกฎหมายได้

แต่ผมเชื่อมั่นในพลังของสังคม พลังของโซเชียลเน็ตเวิร์ค พลังของคนที่รักความเป็นธรรม ว่าเราสามารถส่งเสียงไปให้ผู้ที่มีอำนาจ

เปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมได้ ต่อไปจะได้ไม่มีคำว่า คุกมีไวัขังคนจน อีกต่อไป

ที่นี้กฎหมายที่ออกแบบเพื่อจับคนเขาคุกหรือเอาคนออกจากคุก หลักๆ ก็คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๓๑ บัญญัติไว้ว่า 

"ให้การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายจะกระทำมิได้

เว้นแต่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย " ดังนั้น หลังจากมีรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว ทำให้มีการแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามมา

แต่ก็ยังไม่มีการแก้กฎหมายที่ทำให้คนจนเสียเปรียบต้องติดคุกอยู่นะคับ

โดยมีกฎหมายที่ทำให้คนจนติดคุก เสียเปรียบผู้มีอันจะกินในสังคมอยู่หลัก ๆ ก็คือ

คนจน คนไม่มีเส้นติดคุกก่อนศาลตัดสินว่าถูกหรือผิด และ

คนจน ติดคุกหลังศาลตัดสินแต่คนรวยรอดตัวแบบสบาย ๆ


คนจนติดคุกก่อนศาลตัดสินว่าถูกหรือผิด ก็คือ ติดคุกระหว่างศาลพิจารณาคดีคับ

๑. หมวดที่ ๓ ว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราว หรือที่ชาวบ้านเราเรียกว่า การประกันตัวนั้นเอง

ซึ่งตามมาตรา ๑๑๐ กำหนดไว้ว่า " ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราวต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วย

หรือไม่ก็ได้

            วรรคสองในคดีอย่างอื่นจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้ "

และตามมาตรา ๑๑๑ " เมื่อจะปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย ก่อนที่จะปล่อยไป ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฎิญาณตนว่าจะมาตามนัด

หรือหมายเรียก "

 ซึ่งจากกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าว ก็จะสรุปได้ว่า ถ้าเป็นโทษเล็กๆ น้อย ๆ ศาลก็สามารถให้จำเลยหรือผู้ต้องหาสาบานตัวว่าจะมาตามนัดแล้วปล่อยกลับ

บ้านได้ คนจนไม่มีเงินก็กลับบ้านได้ ไม่ต้องติดคุก รอก่อนค่อยตัดสินที่หลัง

แต่ตามมาตรา ๑๑๐ นั้นกลับกำหนดให้คดีที่มีโทษจำคุกเกินห้าปีขึ้นไป การปล่อยตัวชั่วคราวต้องมีหลักประกัน ซึ่งทำให้ศาลไม่สามารถให้จำเลยสาบานตัวแล้ว

กลับบ้านได้เหมือนคดีเล็กๆ น้อยๆ ได้ จึงทำให้คนจนต้องติดคุกเพราะไม่มีเงินมาประกันตัว 

เพราะตามมาตรา ๑๑๔ " เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยให้มีประกันและหลักประกันด้วย ก่อนปล่อยตัวไป ให้ผู้ร้องขอประกันจัดหาหลักประกันมาดังต้องการ

ซึ่งหลักประกันมี ๓ ชนิด ดังนี้
  1. มีเงินสดมาวาง
  2. มีหลักทรัพย์อื่นมาวาง
  3. มีบุคคลมาเป็นหลักประกัน โดยเเสดงหลักทรัพย์
จากกฎหมายดังกล่าวทำให้คนจน คนไม่มีเส้นต้องติดคุก เพราะไม่มีเงินมาประกันตัว และหาบุคคลมาประกันตัวให้เขาก็ไม่มาให้

ส่วนคนชั้นกลาง หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินสด ไม่มีหลักทรัพย์ จำพวกโฉนดที่ดิน ก็ต้องไปหาหยิบยื่ม หรือกู้หนี้นอกระบบ ร้อยละ ๓ หรือ๕ ต่อเดือน

เพื่อเอาเงินมาเช่าหลักทรัพย์จากหน้าประกันอาชีพต่อไป

ส่วนคนรวยนั้น ก็สบายๆ หาเงินหาหลักทรัพย์มาประกันตัวได้อยู่แล้วครับ

อีกทั้งความเลื่อมล้ำในสังคมทำให้เงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ของคนหาเช้ากินค่ำ คนชั้นกลาง กับเศรษฐี มหาเศรษฐี นั้นมีคุณค่าต่างกัน

เพราะ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ของมหาเศรษฐี อาจเป็นเพียงค่าอาหารเพียงมื้อเดียว ส่วน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ของคนจน คือค่าอาหารทั้งปีของครอบครัว

ดังนั้นจึงไม่เเปลกที่คนจน คนไม่มีเส้นต้องติดคุก เพราะไม่มีเงินมาประกันตัว และไม่มีใครมาประกันตัวให้....

คำถามก็คือ ทำไมเราต้องใช้เงินมาเป็นหลักประกันด้วยว่าเขาจะไม่หนี ?

ทั้งที่ความจริงแล้วคนที่เขาจะหนี ต่อให้ใช้วงเงินมากเท่าไหรเขาก็หนี

คนจนที่ไม่หนี เขาก็เขามอบตัวต่อตำรวจโดยดีตลอดมา...แต่ไม่มีเงิน จึงต้องติดคุก...หรือคับ

ทำไมเราไม่ออกเเบบกฎหมายไทยใหม่ ไม่ใช้เงินเป็นที่ตั้งในการปล่อยตัวชั่วคราวบ้างละคับ ??

เช่น ในความคิดเห็นของผมนะคับ เมื่อเรากลัวว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหนีนะคับ..

เราก็มา่ดูว่าเขาหนีคดีเพราะอะไร ? เพราะเขาคิดว่าเขาหนีประกันแล้วจะทำให้คดีขาดอายุความหรือเปล่า ?

ถ้าใช่เราอาจมาแก้กฎหมายใหม่ กำหนดให้คนที่หนีคดีในชั้นประกันตัว ไม่ให้คดีขาดอายุความ และถ้าจับตัวได้

ก็ไม่มีสิทธิประกันตัวอีกต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เพื่อเป็นการลงโทษคนที่หนีไม่ดีกว่าหรือคับ...ดีกว่าขังคนจนบริสุทธื์ไว้

และที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องว่าศาลต้องให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนนะคับ

เพียงแต่อยากให้ตัดประเด็น เรื่อง " ความเชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด"  ตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาล

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๑๐๘ (๔) ส่วนหลักเกณฑ์อื่นยังขอให้คงเดิม เช่นความหนักเบาแห่งข้อหา พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร หรือเป็นผู้มีอิทธิพล 

ปล่อยไปเเล้วอาจไปข่มขู่พยานได้

เพราะเมื่อคนจนไม่มีหลักประกันหรือหลักประกันไม่น่าเเชื่อถือ เช่น ที่ดินไม่ติดทางสาธารณะ ศาลบางท่านก็ยกคำร้องได้โดยให้เหตุผลว่า

 หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ ไม่สะดวกแก่การบังคับคดีเป็นตน.. สุดท้ายคนจนก็ติดคุกคับ หรือไปจ้างนายประกันอาชีพให้หาหลักทรัพย์มาให้

และในส่วนที่สอง

คนจน ติดคุกหลังศาลตัดสินแล้วแต่คนรวยรอดตัวแบบสบาย ๆ

ก็คือในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับนะครับ

เมื่อศาลพิพากษาว่าทำผิดจริง แต่โทษจำคุกให้รอการลงอาญาไว้ และให้ชำระค่าปรับจำนวน......บาท 

ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้ขังแทนวันละ ๒๐๐ บาท

ผลก็คือคนจนไม่มีเงินชำระค่าปรับ ก็ติดคุกซิครับ ติดคุกแทนค่าปรับ

ส่วนคนรวยไม่ติดคุกเพราะมีเงินชำระค่าปรับคับ สบายๆๆ

ความจนมันน่ากลัวนะคับ...

อันนี้ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่เขียนไว้นะคับ ยุติธรรมคับแต่คนจนเสียเปรียบคนรวย

และที่เป็นปัญหา เพราะคนจนเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เลยทำให้มีคนติดคุกเพราะไม่ได้ประกันตัวเต็มคุกคับ

สุดท้ายกฎหมายเเก้ได้ครับผม เขาบอกว่า " คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก "

และผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนดี เป็นคนที่รักความยุติธรรม และผมเชื่อว่าประชาชนคนธรรมดาก็มีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมได้

เราทุกๆ คนทำได้ด้วยปลายนิ้ว เพียงแต่ท่านช่วยแชร์ บทความนี้ หรือเสนอแนะให้ผู้มีอำนาจในสังคมได้เห็น เพื่อสังคมไทยที่ดีขึ้น

ต่อไปจะได้ไม่มีคำว่า " คุกไทยมีไว้ขังคนจน " อีกต่อไป

แต่ถ้าท่านอ่านแล้ว หลับตาข้างหนึ่งทำเป็นมองไม่เห็นความไม่ยุติธรรมในสังคมไทย ก็ตัวใครตัวมันครับ...

เวลาคนรวยทำผิดแล้วไม่ติดคุก ก็ไม่ต้องมีอารมณ์นะครับ ว่าคุกมีไว้ขังคนจน

แล้วไปโทษศาลว่าไม่ยุติธรรม เมื่อกฎหมายมันว่าอย่างนั้น แล้วศาลจะไม่ไปตามกฎหมายได้อย่างไรครับผม..

เพราะเราทุกคนเป็นคนเลือกเอง ที่จะให้มันเป็นอยู่เช่นนั้นเอง

แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปนะคับ

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา 





 










วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เมาแล้วขับ...ประกันภัยรถยนต์ต้องจ่ายหรือเปล่า ??

เมาแล้วขับ บริษัทประกันต้องจ่ายหรือเปล่าคับผม ?


เมาแล้วขับ ประกันจะจ่ายหรือเปล่าคับ



สวัสดีคับผม กฎหมายเพื่อความสุขวันนี้ เรามาดูว่า เมาแล้วขับ ประกันรถยนต์ต้องรับผิดชอบหรือเปล่า กันคับผม

กรณีที่ถือว่าเมาแล้วขับตามกฎหมาย คือ 

มีเเอลกอฮอล์เกินกว่า ๕๐ มิลลิกรัม ซึ่งจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ไม่เกิน ๑ ปี ถึงสูงสุด ๑๐ ปี

และปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐ บาทถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท

ที่นี้มาดูว่าประกันภัยรถยนต์ ที่เราทำไว้ ตั้งแต่ภาคบังคับ คือ พ.ร.บ. รถยนต์

และประกันภัยภาคสมัครใจ คือ ประกันภัยชั้น ๑ ถึง ชั้น ๕ 

ถ้าเราเมาแล้วขับ บริษัทประกันภัย จะรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายให้เราหรือเปล่า

๑. ในกรณีประกันภัยภาคบังคับ คือ พ.ร.บ. รถยนต์หรือจักรยานยนต์นี้นะคับ ก็จะไม่มีเขียนไว้ในกรมธรรม์ว่า

มีการยกเว้นความรับผิดจากการเมาแล้วขับไว้นะคับ ดังนั้น ถึงเมาแล้วขับ พ.ร.บ. ก็จ่ายค่าเสียหายให้นะคับ

เพราะ พ.ร.บ. เน้นความคุ้มครองด้านร่างกาย ชีวิต ค่ารักษาพยาบาล จากการประสบอุบัติเหตุจากรถ

๒.ส่วนประกันภัยชั้น ๑ ชั้น ๒ ชั้น ๓ ชั้น ๕ ( ๒ + กับ ๓+ ) ประกันภาคสมัครใจ นั้นนะครับ

เมื่อเราเปิดไปดู ข้อยกเว้นความรับผิดของบริษัทประกันภัย ตามกรมธรรม์ที่เราได้รับมานะคับ

ก็จะพบข้อยกเว้นความรับผิดอยู่ข้อหนึ่ง เขียนไว้เหมือนๆ กันทุกบริษัท แบบว่า " บริษัทจะไม่รับผิดชอบ

ถ้าเราเมาแล้วขับ แล้ววัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้เกินกว่า ๑๕๐ มิลลิกรัม " นะคับ

แต่เมื่อดูชัดๆ ดูให้ละเอียด ก็จะพบว่าถึงเราจะเมาแล้วขับ เกินกว่า ๑๕๐ มิลลิกรัม 

บริษัทประกันภัยก็จะปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไม่ได้ แต่สุดท้ายบริษัทประกันภัย

สามารถมาเรียกร้องเงินค่าเสียหายคืนจากคนเมาแล้วขับได้ "

ที่นี้เมื่อแปลภาษากฎหมายจากสัญญาประกันภัยดังกล่าว เป็นภาษาชาวบ้าน ให้เขาใจง่าย ๆ ก็คือ

        ๑.๑ ในกรณีที่เราเมาแล้วขับ ถ้าไม่เกิน ๑๕๐ มิลลิกรัม บริษัทประกันภัยจ่ายเราตามสัญญา

        ๑.๒ ถ้าเราเมาแล้วขับ เกินกว่า ๑๕๐ มิลลิกรัม  บริษัทประกันภัย สามารถปฎิเสธความรับผิดชอบ
ต่อเราได้ตามข้อยกเว้นในสัญญา คือเราต้องซ่อมรถเราเอง จ่ายค่าเสียหายเอง จ่ายค่าซ่อมรถให้คู่กรณีเอง
ประกันตัวในชั้นศาลเอง จ่ายค่าพยาบาลเอง

        ๑.๔ แต่ถึงแม้เราจะเมาแล้วขับ เกินกว่า ๑๕๐ มิลลิกรัม บริษัทประกันภัยก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกไม่ได้
กล่าวคือ บุคคลภายนอก คู่กรณียังสามารถมาเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบค่าเสียหายได้ เช่น สมมุติถ้าคุณเมาแล้วขับ
วัดแอลกอฮอล์ได้ ๓๐๐ มิลลิกรัม ขับรถโดยประมาทมาชนรถลูกความของผมได้รับความเสียหาย ผมก็จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากคุณ
ในฐานะคนขับ ( ทำละเมิด ) เป็นจำเลยที่ ๑ และฟ้องบริษัทประกันภัย เป็นจำเลยที่ ๒ เพื่อให้รับผิดร่วมกัน ที่ต้องฟ้องบริษัทประกันด้วย
เพราะบริษัทประกันภัยมีเงินจ่ายแน่ๆๆ คงไม่ได้แค่คำพิพากษากับกระดาษ

         ๑.๕ ที่นี้เมื่อบริษัทประกันภัยจ่ายค่าเสียหายให้กับบุคคลภายนอก คู่กรณี ตามข้อ ๓. ข้างต้นแล้ว
บริษัทประกันภัยก็จะใช้สิทธิกลับไปเรียกร้องเงินคืนจากคุณที่เมาแล้วขับมีแอลกอฮอล์ เกินกว่า ๑๕๐ มิลลิกรัม
ตามข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญาได้...คับ

สรุป ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ เมาแล้วขับ ถ้าเกิน ๑๕๐ มิลลิกรัม

บริษัทประกันภัยสามารถปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาได้ ถึงจ่ายค่าเสียหายให้กับบุคคลภายนอก 

หรือคุ่กรณีไปแล้ว บริษัทประกันภัยก็มาเรียกร้องเงินคืนจากคนที่เมาแล้วขับ เกิน ๑๕๐ มิลลิกรัมได้คับ


สรุปสุดท้าย เมาแล้วขับ มีแอลกอฮอล์ เกินกว่า ๑๕๐ มิลลิกรัม

ประกันภัยภาคบังคับ พรบ.จ่ายตามปกติ ส่วนประกันภัยชั้น ๑ ถึงชั้น ๕ ก็ตัวใครตัวมันครับ


แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปนะคับผม..

      ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา






วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

การจัดการมรดกที่ดิน

ผู้จัดการมรดก เพื่อการจัดการมรดก



ผู้จัดการมรดกคือใคร
      ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก โดยมีสิทธิตามกฎหมายในการรวบรวมทรัพย์มรดกของผู้ตาย เพื่อไปแบ่งปันให้แก่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายต่อไป

ทำไมต้องร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ? 

       เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของผู้ตายนั้นตกทอดแก่ทายาท ซึ่งมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิด รวมทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่างๆ ที่ไม่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย
      ชึ่งแม้มรดกจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมเช่น ลูกหลาน สามีภริยา บิดามารดา ของผู้ตายหรือตกทอดแก่ทายาทโดยพินัยกรรม ( กรณีมีพินัยกรรม ) ก็ตาม แต่ในการไปติดต่อกับบุคคลหรือหน่วยงานท่ีเกี่ยวข้องเพื่อจะโอนมรดกจากชื่อผู้ตายมาเป็นชื่อของทายาท ให้มรดกตกเป็นของทายาทโดยสมบูรณ์น้ั้น อาจมีเหตุขัดข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ธนาคารไม่ยอมให้ถอนเงิน เจ้าหน้าที่ที่ดินไม่ดำเนินการโอนให้ ไฟแนนซ์ไม่ยอมโอนให้ แจ้งว่าต้องให้ผู้ติดต่อยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลและนำคำสั่งศาลที่ตั้งผู้จัดการมรดกมาเเสดงเสียก่อนจึงจะสามารถดำเนินการให้ได้


เหตุขัดข้องที่ทำให้ไม่สามารถจัดการมรดกได้

  1. เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทายาทโดยธรรมหรือทายาทโดยพินัยกรรมสูญหายหรืออยู่ต่างประเทศหรือเป็นผู้เยาว์ ( ทายาทไปไม่ครบ )
  2. เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทโดยธรรมไม่สามารถหรือไม่เต็มใจจัดการมรดกหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกหรือเเบ่งปันมรดก ( ตกลงกันไม่ได้ ) 
  3. เมื่อข้อกำหนดตามพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไม่มีผลบังคับ


คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก ตามมาตรา ๑๗๑๘ 

  1. บรรลุนิติภาวะ คือ มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์หรือโดยการสมรสตามกฎหมาย
  2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต
  3. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

ผู้มีิสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก มาตรา ๑๗๑๓

  1. ทายาทโดยธรรมที่มีีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเท่านั้น ไม่รวมถึงทายาททุกลำดับชั้น หรือ ทายาทโดยพินัยกรรม
  2. พนักงานอัยการ
  3. ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก เช่น 
  • ผู้สืบสิทธิจากทายาท ผู้รับมรดกเเทนที่  เช่น บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วเป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิรับมรดกแทนท่ี่บิดาที่ตายไปแล้วได้ ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของปู่ ฎีกาที่ ๑๑๑๗/ ๒๕๓๖
  • เจ้าของรวม ในทรัพย์มรดก เช่นมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ตายในที่ดิน ฎีกาทีี่ ๙๐๒ / ๒๕๔๑
  • สามีหรือภริยาทีี่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่กินด้วยกันและมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันถือว่าเป็นเจ้าของรวมของสามีหรือภริยา หลักเดียวกันกับเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมนั้นเอง ฎ.๒๕๑๐/๒๕๔๕              แต่ถ้าระหว่างอยู่กินกันนั้น ไม่มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ก็ถือว่าไม่ผู้มีส่วนได้เสียนะครับ
  • เจ้าหนี้ของกองมรดก เพราะเม่ื่อลูกหนี้ตาย เจ้าหนี้สามารถฟ้องทายาทหรือผู้รับพินัยกรรมให้รับผิดชำระหนี้จากกองมรดกได้อยู่แล้ว ( แต่ทายาทรับผิดชอบไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ ) เจ้าหนี้จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอหรือร้องคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดกได้ ฎีกาที่ ๒๖๗/ ๒๕๒๔
  • ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม  ในกรณีที่ผู้ตายตั้งผู้จัดการมรดกโดยระบุไว้ในพินัยกรรม
  • ผู้แทนโดยชอบธรรมของผุ้เยาว์ซึ่งเป็นทายาท 
  • ผู้ปกครองผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทตามคำสั่งศาล เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการจัดการมรดกเพื่อประโยชนฺ์ของผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาท เนื่องจากผู้เยาว์ไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเองได้ ฎ. ๕๘๗/๒๕๒๓
                    ดังนั้นบุคคลอื่นนอกจากทายาท พนักงานอัยการหรือผู้มีส่วนได้เสียแล้ว จะยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกไม่ได้ เเม้จะเป็นบุคคลที่ทายาททุกคนตกลงให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม ฎ.๓๘๗/๒๕๑๘
                    แต่ทางแก้คือ กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าผู้จัดการมรดก จะต้องเป็นทายาท ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ ดังนั้นผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง สามารถขอให้ศาลตั้งบุคคลอื่นที่มีคุบิณสมบัติไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๗๑๘ เป็นผู้จัดการมรดกได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น ฎ.๑๗๘๒/๒๕๔๑

เอกสารที่ใช้ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาล

          ๑. หลักฐานแสดงความสัมพันธ์ของผู้ร้องกับเจ้ามรดก เช่น

  • กรณีบุตรยื่นของบิดา/ มารดา หรือ บิดา/ มารดา ยื่นของบุตร มีใบสำคัญการสมรสหรือใบสำคัญการหย่าของบิดามารดา ใบสูติบัตรหรือทะเบียนการรับรองบุตร หรือทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม
  • กรณีคู่สมรส มีใบสำคัญการสมรสระหว่างผู้ยื่นคำร้องกับของผู้ตาย
  • กรณีเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน สูติบัตรของผู้ร้องและของผู้ตาย
  • กรณีเป็นผู้รับพินัยกรรมหรือผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม มีพินัยกรรม
           ๒. ใบมรณะบัตรหรือหนังสือรับรองการตาย ของเจ้ามรดก 
           ๓. ทะเบียนบ้านของเจ้ามรดก 
           ๔. หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์มรดก เช่น โฉนดที่ดิน สมุดคู่ฝากธนาคาร คู่มือรายการจดทะเบียนรถยนต์หรือจักรยานยนต์ สัญญาเช่าซื้อ ใบหุ้น ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เป็นต้น
           ๕. บัญชีเครือญาติ คือทายาทที่มีสิทธิรับมรดกมีใครบ้าง พ่อแม่มีลูกหลาน กี่คน ?
           ๖. ใบมรณบัตรของทายาทที่มีสิทธิรับมรดกที่ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก
           ๗. หนังสือให้ความยินยอม ทนายความเป็นผู้มอบให้ผู้ร้องนำไปให้ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเซ็นต์ยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก พร้อมกับแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านที่เซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้องโดยทายาทดังกล่าว ( กรณีทายาทเป็นผู้เยาว์ ใช้สูติบัตรแทน )
           ๘. หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล ของผู้ร้องหรือของเจ้ามรดก
           ๙. สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชนของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
           ๑๐. ในกรณีร้องขอให้ศาลตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลนั้นด้วย
           ๑๑. ในกรณีที่ซื่อตัวหรือชื่อสกุล ไม่ตรงกัน เช่นตามทะเบียนบ้าน กับในโฉนดที่ดิน ชื่อไม่ตรงกัน ต้องมีหนังสือรับรองบุคคลมาแสดงด้วย

          หมายเหตุ
  1.  เอกสารทุกฉบับต้องมีต้นฉบับมาแสดงต่อศาลในวันไต่สวนคำร้องด้วย
  2. กรณีเอกสารใดสูญหายหรือไม่มีต้นฉบับให้ไปดำเนินการขอคัดสำเนาเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้เจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้องด้วย

ระยะเวลาในการดำเนินการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

        นับตั้งแต่วันยื่นคำร้องขอจัดการมรดก ศาลจะนัดไต่สวนคำร้องขอ ซึ่งเร็วสุดคือ ๔๕ วัน แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับวันว่างของศาลและทนายความด้วย ซึ่งในวันนัดไต่สวน ผู้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต้องมาศาลด้วยพร้อมกับต้นฉบับเอกสารทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนทายาทคนอื่นจะมาด้วยหรือไม่ก็ได้เนื่องจากให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมแล้ว ใช้เวลาในการไต่สวนคำร้องประมาณ ๑๐ นาที
        หลังจากไต่สวนเสร็จและศาลมีคำสั่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้ร้องสามารถขอคัดถ่ายคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยให้เจ้าหน้าที่ศาลรับรองสำเนาถูกต้องและผู้ร้องสามารถนำสำเนาคำสั่งดั่งกล่าวไปดำเนินการตามความประสงค์ได้ต่อไป
        หมายเหตุ แต่ในกรณีีที่มีทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นคัดค้าน ก็จะทำให้กลายเป็น"คดีที่มีข้อพิพาท" ถ้าตกลงกันไม่ได้ในวันที่นัดไต่สวน ก็ให้ต้องเลื่อนคดีไปตามระเบียบ ไม่สามารถเสร็จในวันเดียวได้

       การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก กฎหมายเพื่อความสุข คดีไม่มีข้อพิพาท ไม่มีอะไรยุ่งยาก ๑ วันจบ ถ้าพี่น้องตกลงกันได้.....

แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะครับ กฎหมายเพื่อความสุข


ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา กฎหมายเพื่อความสุข