วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

การขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ สิทธิผู้ต้องหาตามกฎหมาย

เทคนิคสู้คดีขั้นเทพ ขอความเป็นธรรม จนคดีขาดอายุความ

การขอความเป็นธรรมต่ออัยการ 

สิทธิของผู้ต้องหาที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย....

เพิื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และเป็นการเปิดโอกาส
ให้มีการนำเสนอข้อเท็จจริงให้มากที่สุด

ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดจนเป็นเหตุให้คนอื่นถึงความตาย ยังขาดอายุความได้




แล้วสงกรานต์นี้ ประชาชนผู้หาชาวกินค่ำ นั่งท้ายกระบะเล่นน้ำ
โดนตำรวจปรับ 500 บาท ทำไมจะร้องขอความเป็นธรรมไม่ได้???




การขอความเป็นธรรมชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการผู้ต้องหาทุกคนสามารถทำได้
ไม่ใช่ทำได้แต่คนรวย คนจนก็มีสิทธินะครับ...

การร้องขอความเป็นธรรม เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่สามารถทำได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ตามมาตรา ๕๙ "บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณา
ภายในเวลาอันรวดเร็ว"

ประชาชนจึงสามารถยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ ขอความเป็นธรรมต่อหน่วยงานต่างๆ ได้
ตลอดจนการขอทูลเกล้าฯถวายฎีกาต่อในหลวง ก็สามารถทำได้เช่นกัน

แม้สิทธิผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาจะไม่มีการกำหนดเรื่องสิทธิการร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการไว้

แต่ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีระเบียบให้ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย ประชาชนสามารถยื่นร้องขอความเป็นธรรมได้

และตามระเบียบอัยการสูงสุุดก็สามารถร้องขอความเป็นธรรมได้....

ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๔๗
ข้อที่ ๗๐ "เมื่อผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องในคดีร้องขอต่อพนักงานอัยการว่า
ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสอบสวนก็ดี หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าพยานให้การโดยไม่สมัครใจหรือให้การขัดต่อความจริงก็ดี หรือเมื่อมีเหตุอื่นที่เห็นสมควรและพนักงานอัยการเห็นว่าการซักถามพยานจะได้ความชัดแจ้งและรวดเร็วกว่าสอบสวนเพิ่มเติม ให้พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนส่งพยานคนใดมาให้ซักถามได้"

และตามข้อ ๔๘ ว่าด้วยการสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม  
บัญญัติว่า " คดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ในกรณีที่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องผุ้ต้องหาทุกข้อหาหรือบางข้อหา ให้เสนอสำนวนพร้อมความเห็นตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่ง
                  กรณีที่มีคำสั่งฟ้อง ให้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล และให้รีบทำบันทึกส่งคำร้องขอความเป็นธรรม สำเนาความเห็นและคำสั่งพร้อมทั้งสำนวนรายงานการสอบสวนเสนออธิบดีเพื่อทราบ
                 กรณีดังกล่าวในวรรคก่อน หากเป็นกรณีที่ต้องกลับความเห็นหรือกลับคำสั่งเดิม หรือต้องถอนฟ้อง ให้นำความในข้อ ๖ วรรคท้าย หรือข้อ ๑๒๘ มาใช้บังคับแล้วแต่กรณี "

ตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดดังกล่าว

ผู้มีสิทธิร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ  คือ


  1. ผู้เสียหาย
  2. ผู้ต้องหาหรือญาติ
  3. ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องในคดี ซึงสำนักงานอัยการสุงสุดไม่ได้กำหนดให้คำนิยามไว้ว่า จะมีประโยชน์เกี่ยวข้องกับคดีอย่างไร หรือมีขอบเขตส่วนเกี่ยวข้องในคดีเพียงใด คือ เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมได้อย่างกว้างขวาง เพราะต้องการความจริงในคดีและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาแก่ประชาชน ดังนั้นทุกคนจึงสามารถยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการได้
กำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ  ตามระเบียบดังกล่าว ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องไว้ และไม่ได้กำหนดจำนวนครั้งในการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมไว้ 
         ดังนั้นผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหาจึงสามารถยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการได้ตลอดเวลา ไม่ว่าทั้งก่อนได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน ได้รับสำนวนสอบสวนมาแล้ว สั่งฟ้องไปแล้วหรือศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้วก็สามารถยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมได้
         และการที่ไม่ได้กำหนดจำนวนครั้งในการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมไว้ ทำให้ผู้ต้องหาสามารถยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมได้ 1 ครั้ง 2 ครั้ง 3 ครั้ง 4 ครั้ง ....ได้ ( ทำให้ผู้ต้องหาบางคนใช้ในการประวิงคดีให้ล่าช้าออกไปได้ )

สามารถยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการได้ที่ไหนบ้าง

การยื่นคำร้องก็สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อสำนักงานอัยการได้ หรือจะยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่อหน่วยงานอื่นๆ ก็ได้ เช่น ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร ,วุฒิสภา ,สนช. เช่น กรณีของคดีทายาทกระทิงแดง  ก็มีการยื่นขอความเป็นธรรมกับกรรมมาธิการตำรวจ ใน สนช. เมื่อหน่วยงานอื่นได้รับคำร้องขอความเป็นธรรมแล้วก็จะส่งเรื่องต่อไปให้กับอัยการต่อไป เป็นต้น

เรื่องที่สามารถยื่นขอความเป็นธรรมต่ออัยการได้ ตามระเบียบข้อ ๗๐

  1. ร้องขอความเป็นธรรมว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสอบสวนก็ดี เช่น พนักงานสอบสวนทำสำนวนอ่อน สอบถามพยานไว้่ไม่ครบถ้วน ขอให้พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ได้
  2. ร้องขอความเป็นธรรมว่าพนักงานอัยการไม่มีความเป็นธรรม อาจเอียงข้างเข้าฝ่ายผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย ขอให้สอบสวน เพื่อพิจารณาเปลี่ยนตัวท่านอัยการเจ้าของสำนวนได้

จากระเบียบการร้องขอความเป็นธรรมและการสั่งคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว

ทำให้เราสามารถยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเพื่อ

1.ร้องขอความเป็นธรรมเพื่อขอความเป็นธรรม...เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจริงๆๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อประกอบการตัดสินใจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไป

2. ร้องขอความเป็นธรรมเพื่อขอเวลาทำใจ ( ประวิงคดี ) ประเภทรู้ว่าตัวเองผิด ตำรวจก็ทำสำนวนมาดีแล้ว ช่วยเหลือเต็มที่แล้ว แต่ขอยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเพื่อขอเวลาทำใจ หรือเพื่อประวิงคดีให้เลื่อนการสั่งฟ้องออกไป ส่วนจะขอเลื่อนคดีได้นานแค่ไหน ก็เป็นความสามาุรถของแต่ละบุคคลครับ ท่านจะสามารถขอเลื่อนคดีได้ 5 ปี จนคดีขาดอายุความแบบคดีทายาทกระทิงแดงหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ

สุดท้าย ขอปิดด้วยคดีตัวอย่าง คดีทายาทกระทิงแดง 5 ปี ขอเลื่อนคดี อัยการท่านเมตตาให้เลื่อน 7 ครั้งจนบางข้อหาขาดอายุความไปแล้ว

คดีทายาทกระทิงแดง  เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๕ เมื่อคุณวรยุทธ  อยู่วิทยา หรือคุณบอส ทายาทกระทิงแดง ขับรถยนต์ชน ด.ต.วิเชียร เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ หลังชนแล้วก็มีการขับรถลากตำรวจไปอีกร้อยกว่าเมตร และขับรถยนต์หนีไปไม่ลงไปให้ความช่วยเหลือ...
             วันต่อมาก็มีการส่งลูกจ้างออกมารับแทนว่าขับรถหรูชนตำรวจตาย แต่ชาวบ้านไม่เชื่อจึงมีการออกมายอมรับว่าคุณบอส ทายาทกระทิงแดง เป็นคนขับรถยนต์หรูชนตำรวจตายจริง...
              ต่อมามีการเจรจาตกลงค่าเสียหายกับญาติผู้ตาย และสามารถตกลงค่าเสียหายกันได้เป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาท โดยให้ญาติผู้ตายบันทึกข้อตกลงว่าไม่ติดใจเรืยกร้องค่าเสียหายทั้งทางแพ่งและทางอาญากับคุณบอส ทายาทกระทิงแดงอีกต่อไป...

ต่อมาได้มีตั้งข้อหา กับคุณบอส ทายาทกระทิงแดงหลายข้อหาด้วยกันคือ
  1. ข้อหาเมาแล้วขับ มีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากตำรวจบอกว่า เมาหลังขับ ข้อหานี้จบไป
  2. ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ ชนแล้วหนี มีีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน อายุความ 5 ปี
  3. ขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท อายุความ 1 ปี ขาดอายุความแล้ว
  4. ทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย
  5. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมีโทษจำคุุกไม่เกิน 10 ปี อายุความ 15 ปี
ปัจจุบันวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ผ่านมาแล้ว ๔ ปี กับอีก ๕ เดือนกว่า คดีนี้อัยการยังไม่ได้ตัวคุณบอส ทายาทกระทิงแดงไปส่งฟ้องต่อศาล เพราะที่ปรึกษาทางกฎหมายคุณบอสทายาทกระทิงแดง อาศัยเทคนิค ช่องโหว่ ของระเบียบอัยการในการที่ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม ท่านอัยการจึงเมตตาอนุญาตให้เลื่อนนัดมาโดยตลอด...

ดังนั้นประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำก็สามารถใช้เทคนิคดังกล่าว ในการขอความเป็นธรรม ขอเลื่อนนัดส่งตัวฟ้องต่อศาลได้เช่นกันนะครับ ส่วนจะเลื่อนได้จนคดีขาดอายุความเหมือนคดีคุณบอส ทายาทกระทิงแดงหรือเปล่านั้น เป็นดุลพินิจของท่านอัยการที่ผุ้เขียนไม่อาจก้าวล่วงได้...แต่ท่านผุ้ร้องขอความเป็นธรรมสามารถยกตัวอย่างคดีคุณบอส ทายาทกระทิงแดง ว่าท่านอัยการก็เคยอนุญาตมาแล้ว ท่านอัยการกลับมาไม่อนุญาตคดีของชาวบ้านจนๆ ท่านเลือกปฎิบัติหรือเปล่า ขอร้องเรียนท่านอัยการต่อก็แล้วกัน...

แต่สุดท้ายแล้วคดีทายาทกระทิงแดง ส่งผลกระทบต่อสำนักงานอัยการไม่มากก็น้อย ดังนั้นหลังจากคดีทายาทกระทิงแดง ที่ร้องขอความเป็นธรรมจนคดีขาดอายุความ อาจจะเป็นเหตุผลให้สำนักงานอัยการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในการร้องขอความเป็นธรรม ก็เป็นไปได้ โดยกำหนดหรือลดจำนวนในการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมลง...เพื่อป้องกันการใช้ช่องโหว่ดังการในการประวิงคดีก็ได้ครับ...

สุดท้ายไปโรงไปศาล ต้องใช้เงิน มีค่าใช้จ่าย

แม้จะมีเจ้าหน้าที่่ค่อยให้การบริการ ทำเองไม่จ้างทนายความ แต่ก็ยังเสียเงิน เสียเวลาอยู่ดีนะครับ

การเลือกหนทางรับสารภาพ แล้วจ่ายค่าปรับ 500 บาท เพื่อให้คดีจบๆ กันไป
อาจคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่า การไปขึ้นโรงขึ้นศาล

ด้วยแนวคิดแบบนี้เอง จึงทำให้ตำรวจชอบจับ พวกขี่มอไซด์ รถกระบะ มากกว่ารถหรู ราคาแพง
เพราะจับแล้วไม่มีปัญหา จ่ายเงิน เรื่องจบ

แต่ถ้าจับรถหรู อาจโดนเล่นงานจากผู้อยู่เบื้องหลังรถหรูเหล่านั้นได้

แต่ถ้าประชาชนลุกขึ้นสู้ ไม่จ่ายเงินให้ ตำรวจก็อาจจับน้อยลงก้ได้
เพราะจับแล้ว ไม่ได้ค่าปรับ...

ไปจ่ายค่าปรับที่ศาล รับสารภาพลดค่าปรับกึ่งหนึ่ง เงินเข้าหลวง
ถ้าไม่มีเงินเสียค่าปรับจริงๆ ยังขอทำงานบริการสาธารณะได้...

สิทธิของทุกคนมี แต่เราจะสุ้เพื่อปกป้องสิทธิของเราหรือเปล่า ??

หรือจะรับๆ ไป เพื่อให้เรื่องมันจบ...


บทความที่เกี่ยวข้อง

สิทธิของผู้ต้องหา ผู้ถูกจับกุมตามกฎหมาย



ขอบคุณภาพประกอบบทความจากคุณชูวิทย์...

กับบทความ หรือกฎหมายไทยจะไม่สามารถบังคับใช้ได้กับคนรวย ?

https://www.facebook.com/ChuvitIamBack/photos/rpp.193319037381500/1386374168075975/?type=3&theater



แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับผม.

กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

สิทธิของผู้ต้องหาชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน ตาม ป.วิอาญา ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

สิทธิของผู้ถูกจับ ผู้ต้องหา ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 
ตามกฎหมาย ป.วิอาญา




ผู้ต้องหา คือ บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังไม่ถูกฟ้องต่อศาล "
ตาม ป.วิอาญา มาตรา ๒ (๒)

จำเลย คือ " บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด "
ตาม ป.วิอาญา มาตรา ๒ (๓)

จากบทนิยามของกฎหมายดังกล่าว ใครจะตกเป็นผู้ต้องหาตามกฎหมาย   จะต้องมีการร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษ ว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดอาญา ต่อเจ้าพนักงาน

เนื่องจากประเทศไทยใช้ระบบการดำเนินคดีอาญาระบบกล่าวหา ตามนานาอารยประเทศ
ได้ยกเลิกกา่รดำเนินคดีอาญาระบบไต่สวน แบบท่านเปาปุ้นจิ้น ที่สอบสวนเอง ตัดสินเอง
แถมสั่งทรมานนักโทษให้รับสารภาพได้....

และตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ และตามป.วิอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง ท่ี่ให้สันนิฐานไว้ก่อนว่า
ผู้ต้องหาหรือจำเลย ไม่มีความผิด

ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดมิได้...

และตามรํฐธรรมนูญไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔๐(๗) ได้ให้การรับรองสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยไว้ว่า
" ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว 
และเป็นธรรม โอกาสต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว "

แม้รัฐธรรมนูญดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗ ก็ยังให้การรับรองคุ้มครองตามสิทธิเดิมที่เคยได้รับอยู่

ส่วนสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ตามป. วิอาญา ก็ได้มีการแก้ไขรับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือของจำเลยเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดเช่นกัน ดังนี้

สิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ตาม ป.วิอาญา มาตรา ๗/ ๑ มีดังนี้


  1. มีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานเเจ้งญาติหรือผู้ไว้ใจทราบให้ทราบว่าถูกจับและสถานที่ควบคุม
  2. มีสิทธิพบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
  3. ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้ใจเข้าฟังการสอบสวนด้วย
  4. ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
  5. ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเจ็บป่วย
สิทธิของผู้ถูกจับ ผู้ต้องหาตาม ป.วิอาญา มาตรา ๘๓ และ ๘๔ 
      6. ผู้ถูกจับมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้
      7. ผู้ถูกจับมีสิทธิประกันตัว ถูกควบคุมตัวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น มาตรา ๘๗ ,๑๐๖

สิทธิของผู้ต้องหา ผู้ถูกจับ ในชั้นสอบสวน ตามป.วิอาญา

       8. ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม
           ตามป.วิอาญามาตรา ๑๓๔
       9. ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับทนายความฟรี เพื่อให้ต่อสู้คดีได้อย่างยุติธรรม...
           ตาม "หลักอาวุธที่เท่าเทียมกัน "  เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย
           อาจโดนหลอกให้ติดคุกโดยไม่มีความผิดตามกฎหมายก็ได้ ส่วนผู้เสียหายมีตำรวจ
           อัยการทำหน้าที่ให้อยู่แล้ว
     
           สิทธิของผู้ต้องหาที่ได้รับทนายความฟรี ตามป.วิอาญา มาตรา ๑๓๔/ ๑ แบ่งเป็น ๒ กรณี คือ
๑) กรณีผู้ต้องหาโดนคดีที่มีโ่ทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กมีอายุไม่เกิน ๑๘ ปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา  ก่อนถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีทนายความ ให้พนักงานสอบสวนต้องจัดหามาให้ฟรีๆ แก่ผู้ต้องหา ( ภาคบังคับของพนักงานสอบสวนที่ต้องหาทนายความให้ )

๒) ในคดีที่มีีโทษจำคุก ถ้าผู้ต้องหาไม่มีทนายความ และผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้พนักงานสอบสวนจัดหาให้...( ภาคสมัครใจของผู้ต้องหา )

         10. ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟ้งการสอบปากคำของผู้ต้องหาได้ ตามป.วิอาญา มาตรา ๑๓๔/ ๓

          11. ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้  จะให้การอย่างไร ก็ได้ ให้การเท็จก็ได้ ตาม ป.วิอาญา มาตรา ๑๓๔/๔ (๑)

          12. ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะไม่ถูกพนักงานสอบสวนบังคับ ขู่เข็ญ ให้คำมั่นสัญญา หลอกลวง ทรมาน สะกดจิต หรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆ เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น

สุดท้ายสิทธิของผู้ถูกจับ ผู้ต้องหาต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย ป.วิอาญา

โดยมีการออกกฎหมายตาม ป.วิอาญา ออกมาบังคับให้เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม เจ้าพนักงานสอบสวน ต้องแจ้งสิทธิต่าง ๆ ให้แก่ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับ ทราบก่อนเสมอ  ถ้าไม่เเจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาทราบก่อน ทำให้ถ้อยคำใดๆ ของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับ ที่ให้การไว้กับเจ้าพนักงานชุดจับกุมหรือพนักงานสอบสวน รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสุจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา ๘๔ และ มาตรา ๑๓๔/ ๔

        ถ้าผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ถูกบังคับบังคับ ขู่เข็ญ ให้คำมั่นสัญญา หลอกลวง ทรมาน สะกดจิต หรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆ เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น พยานหลักฐานที่ได้มา ก็รับฟังไม่ได้ ตามบทตัดพยาน  ตามป.วิอาญา มาตรา ๒๒๖

       สิทธิการอยู่เฉยๆ ของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับ  การอยู่เฉยๆ ของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับเท่ากับเป็นการปฎิเสธ เพราะในคดีอาญาเป็นภาระหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ อัยการ ที่จะต้องพิสูจนฺ์ให้ศาลเห็นว่า ผุ้ต้องหา จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องจริงโดยให้ปราศจากความสงสัย ให้เห็นแจ้งปานแสงตะวันในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส ศาลจึงจะสามารถลงโทษจำเลยได้

      ดังนั้นสิทธิของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนที่จะอยู่เฉยๆ จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ จะปฎิเสธลอยๆ ไม่อ้างพยานให้พนักงานสอบสวนสอบก็ได้ และจะไม่ถูกบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวงต่างๆ เพื่อให้ผู้ต้องหาต้องให้การกับพนักงานสอบสวนได้ตามสิทธิของผู้ต้องหาที่มีตามกฎหมายรับรองไว้

     สุดท้ายสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้ถุกจับ มีจึงต้องรู้และใช้ชะ 
จะได้ไม่โดนเอาเปรียบจากกระบวนการยุติธรรม  

บทความที่เกี่ยวข้อง

คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม รับฟังไม่ได้


แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับ

กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา

วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

ตัวการร่วมกระทำความผิด ไปด้วยกัน ประหารเหมือนกัน

ตัวการร่วมกระทำความผิด ไปด้วยกัน 
ทำด้วยกัน ถูกประหารเหมือนกัน...




สวัสดีครับผม วันนี้กฎหมายเพื่อความสุข ขอนำเสนอข้อกฎหมายว่าด้วยตัวการร่วม

คดีที่เกิดขึ้นบ่อยๆ วัยรุ่นวัยตามเพื่อย วันดีคืนดี ลูกหลานเราไปเที่ยวกับเพื่อนเฉยๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราว
เพื่อนไปฆ่าคนตาย ลูกหลานเราถูกฟ้องข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นด้วย...เพราะตำรวจบอกว่า ไปด้วยกัน ทำผิดด้วยกัน ถูกฟ้องข้อหาเดียวกัน.... พลักภาระให้ผู้ต้องหา จำเลยไปพิสูจน์เอาเองในชั้นศาล...

ดังนั้นเมื่อถูกฟ้องในข้อหาร่วมก้ันฆ่าผู้อื่นมา จะให้รับสารภาพหรือปฎิเสธดีครับผม..

กฎหมายเพื่อความสุข แนะนำให้รับเท่าที่ทำ เท่าที่รู้...ถ้าไม่รู้ เพื่อนทำไปเอง ก็ปฏิเสธครับ...


ที่นี้มาดูกฎหมาย ดูแนวฎีกา ตัวการร่วม เพื่อใช้ในการตัดสินใจสู้คดีกันครับ...

หลักกฎหมายตัวการร่วม มาตรา 83

    1. เป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา ประมาทไม่มีตัวการร่วม ( ไม่มีข้อหาขับรถโดยประมาทร่วม มีแต่ต่างคนต่างประมาท )
    2. เป็นการกระทำระหว่างบุคคล 2 คน ขึ้นไป
    3. มีการกระทำร่วมกันในขณะกระทำความผิด
    4. มีเจตนาร่วมกันในขณะกระทำความผิด
ตัวการร่วม ต้องมีการกระทำร่วมกันในขณะกระทำความผิด

ตัวการร่วมต้องไปด้วยกัน ทำด้วยกัน อยู่ด้วยกัน พร้อมช่วยเหลือกัน หรือดูต้นทางให้ 
แบ่งหน้าที่กันทำ หนีไปด้วยกัน...อันเป็นการสมคบคิดกันกระทำความผิด...

ตัวการร่วมกระทำความผิด ต้องมีเจตนาร่วมกันในขณะกระทำความผิด

หลักรับผิดตามเจตนา...

ตัวการร่วมต้องมีเจตนาร่วมกัน เช่นเจตนาฆ่าเหมือนกัน คนหนึ่งเอาไม้ตีหัว อีกคนเอาปืนยิงเป็นต้น

ไปทำร้ายร่างกาย อีกคนเจตนาฆ่าด้วยกัน แต่ถ้าตัดสินใจทำเองโดยลำพังทันที รับผิดแต่คนทำในข้อหาฆ่าคนตาย

เจตนาฆ่าหรือเจตนาทำร้ายร่างกาย ให้ดูที่

1.อาวุธที่ใช้...ปืนเป็นอาวุธร้ายแรง ถือว่ามีเจตนาฆ่าเสมอ

2. อวัยวะที่ถูกทำร้าย...ศรีษะ หน้าอก ช่องท้อง แขน ขา เป็นต้น
ตั้งแต่ลำตัวขึ้นไป ถือว่าเป็นอวัยวะสำคัญ เช่นใช้มีดฟันแขน ขา
เป็นเจตนาทำร้ายร่างกาย ฟันศรีษะเป็นเจตนาฆ่า เป็นต้น

ใช้ปืนยิงที่ขา ก็สามารถต่อสู้ว่ามีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกาย ไม่มีเจตนาฆ่าแต่อย่างใดได้


สรุปง่ายๆ กันนะคับ ผิดหรือไม่ผิด เป็นตัวการร่วมหรือไม่

ไปด้วยกัน แล้วคนหนึ่งไปฆ่าเขาตาย ฆ่าแล้วกลับด้วยกัน

ถ้าเราไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ตกลงกันที่จะไปฆ่าเขา เพื่อนไปฆ่าเอง เราไม่ผิด ไม่เป็นตัวการร่วม

ตกลงกันไปทำร้ายร่างกายเขา เพื่อนไปฆ่า เราผิดแค่ข้อหาทำร้ายร่างกาย
เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษเบากว่า...

ตกลงกันไปพูดคุยปรับความเข้าใจเฉย ๆ เพื่อนพกปืนไปด้วย ไปฆ่าเขา เราไม่ผิดเพราะไม่รู้เรื่อง
ไม่รู้ว่าเพื่อนพกปืนไปด้วย ไม่ได้ตกลงกันไปฆ่าเขาสักหน่อย เพื่อตัดสินใจยิงเองคนเดียว...

แต่สุดท้าย คดีแบบนี้ ส่วนมากตำรวจและอัยการก็จะส่งฟ้อง
ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นมาก่อนเสมอครับ...

ผลักภาระหน้าที่ให้จำเลยต้องมาสู้คดีเอาเอง ว่าไม่รู้เรื่องด้วย....

และสุดท้ายเจอข้อหาหนัก วงเงินประกันสูง ไม่มีเงินประกันตัวหรือ
มีเงินแต่เป็นข่าวดังอาจไม่ได้ประกันตัวด้วยเช่นกัน...


แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับผม

กฎหมายเพื่อความสุข เพื่อประชาชน

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา 











ใบสั่งตำรวจ ตามกฎหมายจราจรล่าสุด มาตรา 44 ไม่จ่ายต่อภาษีไม่ได้



ใบสั่งตำรวจตามกฎหมายล่าสุด ห้ามนั่งท้ายกระบะ

เนื่องจากใบสั่งตำรวจ ส่วนมากประชาชนไม่ไปจ่ายค่าปรับกัน

อาจจะสงสัยว่าเป็นใบสั่งตำรวจที่ถูกต้องหรือเป็นใบสั่งปลอม
ก็เลยไม่ยอมไปจ่ายค่าปรับ หรือเห็นว่าไม่จ่ายค่าปรับตามใบสั่งก็ไม่เห็นเป็นไร

จึงเป็นทีี่มา ของการออกกฎหมายจราจรใหม่ล่าสุด
โดยอาศัยมาตรา 44 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557

ใบสั่งตำรวจ ห้ามนั่งท้ายรถกระบะ


















ใบสั่งตำรวจ ห้ามนั้งท้ายรถกระบะ มาจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560
เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

ซึ่งกฎหมายดังกล่าว มีสาระสำคัญอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ

1. เรื่องให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเคลื่อนย้ายรถหรือล็อคล้อรถ ที่หยุดหรือจอดอยู่ในที่ห้ามหยุดหรือห้ามจอดได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถคันดังกล่าว ยกเว้นว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
           และให้เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ต้องชำระค่าลากจูง ค่าล็อคล้อ ค่าดูแลรักษารถระหว่างที่อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ด้วยนะครับ

2. เรื่องกำหนดให้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์รัดเข็มขัดนิรภัย และผู้โดยสารรถยนต์ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในขณะโดยสารรถยนต์ด้วย
           จากกฎหมายจราจรล่าสุดที่แก้ไขดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถนั่งโดยสารท้ายรถกระบะได้อีกต่อไป
เพราะท้ายรถกระบะไม่มีเข็มขัดนิรภัย....หากนั่งท้ายรถกระบะ ก็จะโดนใบสั่งฐานคนนั่งท้ายรถยนต์กระบะไม่คาดเข็มขัดนิรภัยนั้นเอง...   

            ใบสั่งตำรวจฐานนั่งท้ายรถยนต์กระบะ ไม่คาดเข็มขัด มีโทษปรับ 500-1,000 บาท

3. เรื่องกำหนดให้กรมขนส่งจะไม่ต่อทะเบียนให้รถคันทีี่ไม่จ่ายค่าปรับหรือจ่ายค่าปรับไม่ครบตามใบสั่ง
โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการดังต่อไปนี้


  1. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือแจ้งผู้ที่ไม่จ่ายค่าปรับ ให้นำค่าปรับมาจ่ายภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับแจ้ง โดยวันรับแจ้งให้นับวันส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ... ส่วนผู้ถูกใบสั่งจะได้รับจดหมายหลังจากส่ง 20-30 วัน เนื่องจากบ้านอยู่หลังเขา ก็ช่วยไม่ได้ถือว่าผิดนัดแล้ว
  2. หลังจากไม่ชำระค่าปรับภายใน 15วันดังกล่าว ถือว่าผิดนัดแล้ว่ตำรวจจะมีหนังสือแจ้งไปที่นายทะเบียนขนส่ง ว่าเราค้างจ่ายค่าปรับตามใบสั่งของตำรวจอยู่ เมื่อเราไปติดต่อขอชำระภาษีที่ขนส่ง เจ้าหน้าที่ขนส่งก็จะแจ้งให้เราไปชำระค่าปรับก่อนภายใน 30 วัน   
  3. ยังไม่จ่ายค่าปรับสามารถชำระค่าภาษีได้ แต่จะไม่ได้ใบแทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีโดยใช้ได้ 30 วัน ระหว่างรอเสียค่าปรับ
  4. เมื่อไปจ่ายค่าปรับครบถูกต้องสมบูรณ์แล้วนำใบเสร็จเสียค่าปรับ มาแสดงต่อนายทะเบียนขนส่งเพื่อออกแผ่นป้ายเสียภาษ๊ต่อไป
  5. สามารถชำระค่าปรับตามใบสั่งตำรวจ ได้ที่นายทะเบียนขนส่งได้
  6. ถ้าหากเจ้าของรถไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดตามข้อ 1. เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเเจ้งให้นายทะเบียนขนส่งงดการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี และส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปคือส่งฟ้องศาล
  7. ในกรณีที่เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่เห็นว่าตนไม่ได้กระทำผิดตามที่โดนใบสั่งตำรวจ ต้องทำหนังสือโต้แย้งข้อหาตามใบสั่งนั้นภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนขนส่ง ส่งหนังสือดังกล่าวไปยังสถานนีที่ออกใบสั่ง
  8. หากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกใบสั่งยังยืนยันว่าออกใบสั่งถูกต้องและเห็นว่าสมควรดำเนินคดีกับผู้ถูกใบสั่งหรือเจ้าของรถ ก็จะส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการฟ้องศาลต่อไป
  9. ถ้าจ่า่ยค่าปรับครบถ้วนถูกต้องแล้ว ให้ถือว่าคดีเป็นอันเลิกกัน 
  10. กฎหมายเรื่องไม่จ่ายค่าปรับ ต่อภาษีไม่ได้ ไม่ใช้กับใบสั่งเก่า คือใบสั่งที่ตำรวจออกก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ
  11. คำสั่งกฎหมายจราจรใหม่นี้ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สรุป ใบสั่งตำรวจที่ถูกต้อง ตำรวจสั่งใบสั่งแล้ว ไม่จ่ายค่าปรับตามใบสั่ง ต่อภาษีไม่ได้นะครับ ต่อภาษีไม่ได้ ไปเจอตำรวจโดนใบสั่งอีกฐานไม่ติดแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี....

และต่อไปนี้ถ้านั่งท้ายกระบะ ก็จะโดนใบสั่งห้ามนั่งท้ายกระบะ 
เพราะไม่มีเข็มขัดนิรภัยให้คาดครับ...

ดูประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2560
ได้ที่นี้ครับ

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/085/36.PDF






สุดท้าย พี่น้องอีสานบ้านผม คงไม่ได้เล่นสงกรานต์ท้ายรถยนต์กระบะอีกต่อไปแล้ว
และที่สำคัญสุดก็คงไม่สามารถพาญาติพี่น้องไปเที่ยวได้อีกเช่นกัน...

แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับ

กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีีรวัฒน์  นามวิชา

วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560

จำนำรถยนต์ติดไฟแนนซ์ ไม่ให้ผิดกฎหมาย ทำยังไงดี

ต้องการเงินด่วน ต้องการเงินสด รถคุณช่วยได้

แต่ถ้ารถติดไฟแนนซ์ จะนำไปจำนำได้หรือเปล่าครับ...












กฎหมายเพื่อความสุขมีคำตอบครับผม..

คำถามคือ รถยนต์ติดไฟแนนซ์  จะเอาไปจำนำได้หรือเปล่า? 

คำตอบคือ การจำนำรถยนต์ คือ การส่งมอบรถยนต์ให้กับผู้รับจำนำ ยึดถือไว้เป็นหลักประกันการชำระหนี้
เมื่อเราชำระหนี้ครบ เขาก็คืนรถยนต์ให้เรา...

แต่ถ้าเราไม่ชำระหนี้ ไม่ไถ่ถอน ผู้รับจำนำ ก็สามารถนำรถยนต์ออกขายทอดตลาดได้...
ถ้าได้เงินเกินหนี้ก็ต้องคืนเงินส่วนที่เหลือให้กับผู้เอารถยนต์ไปจำนำ..ตามกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์  มาตรา 747, 764 และมาตรา 767

แต่รถยนต์ติดไฟแนนซ์ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของบริษัทไฟแนนซ์อยู่ ส่วนผู้เช่าซื้อมีสิทธิเพียงครอบครองใช้รถยนต์เท่านั้น ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ ดังนั้น เจ้าของรถยนต์ที่แท้จริง คือบริษัทไฟแนนซ์ สามารถฟ้องติดตามเอารถยนต์คืนจากผู้รับจำนำได้...

รถยนต์ติดไฟแนนซ์ก็มีหลักฐานชัดเจนอยู่แล้วว่ากรรมสิทธิ์เป็นของใคร
ผู้รับจำนำรถยนต์ติดไฟแนนซ์จึงรับจำนำรถยนต์ไว้โดยไม่สุจริต จะยกขึ้นสู้บริษัทไฟแนนซ์ไม่ได้

สรุปคำตอบก็คือ...รถยนต์ติดไฟแนนซ์เอาไปจำนำได้ แต่จะมีคนรับจำนำรถยนต์ติดไฟแนนซ์หรือเปล่านั้นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้รับจำนำรถยนต์ติดไฟแนนซ์ต้องไปบริหารความเสี่ยงเองว่ารถยนต์จะโดนตามยึดคืนหรือเปล่า ??

รถยนต์ติดไฟแนนซ์เอาไปจำนำ จะผิดกฎหมายหรือเปล่า ?

คำตอบ ตามหลักกฎหมายและตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว ทางไฟแนนซ์เขามีข้อกำหนดอยู่ในสัญญาเช่าซื้ออยู่แล้วว่า ห้ามไม่ให้เอาไปจำนำ จำหน่าย จ่ายโอน ก่อภาระผูกพันธ์ใดๆ กับรถยนต์ที่เช่าซื้อไป

แล้วจำนำรถยนต์ติดไฟแนนซ์ จะผิดกฎหมายจะติดคุกหรือเปล่า ?

คำตอบก็คือมีทั้งผิดและไม่ผิดกฎหมาย อยู่ที่เจตนาของผู้เอารถยนต์ติดไฟแนนซ์ไปจำนำ

หลักการนำรถยนต์ติดไฟแนนซ์ไปจำนำ จะผิดกฎหมายอาญาฐานยักยอกทรัพย์ 
มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 325 หรือไม่นั้น มีหลักอยู่ว่า


1. ถ้าผู้เอารถยนต์ติดไฟแนนซ์ไปจำนำ โดยเจตนาทุจริต ไม่มีเจตนาไถ่ถอนคืน จนรถยนต์หลุดจำนำ
    ก็ผิดกฎหมายฐานยักยอกทรัพย์ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ฎีกา 6540/ 2548

2. แต่ถ้าผู้เอารถยนต์ติดไฟแนนซ์ไปจำนำ โดยมีเจตนาจะไถ่ถอนคืนในภายหลัง จึงไม่เป็นการเบียดบังเอาเอารถยนต์ติดไฟแนนซ์ไปเป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยเด็ดขาด ไม่มีลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ จึงไม่ผิดกฎหมายฐานยักยอกทรัพย์ ฎีกาที่ 1376/ 2482

ส่วนจำนำรถยนต์ติดไฟแนนซ์แล้ว รถยนต์จะปลอดภัย จะได้คืนหรือเปล่า ??

นั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้เอารถยนต์ติดไฟแนนซ์ไปจำนำจะต้องพิจารณากันเอง

รถยนต์จะหาย รถยนต์จะถูกส่งออกต่างประเทศ ถอนอะไหล่ขาย....ก็เป็นไปได้ทุกทางครับ...

เจอคนดี ที่ซื่อสัตย์ต่อกันก็ปลอดภัยครับ...


บทความที่เกี่ยวข้อง

ขายดาวน์รถยนต์ ติดไฟแนนซ์ ไม่ต้องเปลี่ยนสัญญา


แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปคับผม

กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา



วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560

การรับสารภาพในคดีอาญา

คำให้การรับสารภาพในคดีอาญา..

หลักในการประเมินคดี

เมื่อจำเลยหรือผู้ต้องหาให้การรับสารภาพในคดีอาญา



โอกาสรอดเมื่อคุณรับสารภาพในคดีอาญา


โอกาสรอดเมื่อคุณรับสารภาพในคดีอาญา""

เมื่อคุณให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมหรือในชั้นสอบสวนแล้ว

ถ้าคุณจะกลับคำให้การเป็นปฏิเสธ คุณจะมีโอกาสรอดหรือเปล่า...
  1. รับสารภาพในชั้นสอบสวน โอกาสรอด 70 %
  2. รับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน โอกาสรอด 50 %
  3. รับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนและทำแผนที่ประกอบคำรับสารภาพ โอกาสรอด 30 %
  4. รับสารภาพในชั้นศาล โอกาสรอด 10 %

แม้กฎหมายจะบอกว่า       


  1. คำรับสารภาพในชั้นจับกุมหรือในชั้นรับมอบตัวผู้ถูกจับ ( ผู้ต้องหา ) ว่า "ตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน   
          แต่ ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้
          ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือตาม มาตรา 83 วรรคสอง
แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี

คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ 
ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้โดยเด็ดขาดและไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิน

เหตุผลที่กฎหมายห้ามไม่ให้รับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐาน เพราะว่า
การแจ้งสิทธิต่างๆ ให้ผู้ถูกจับกุมทราบตั้งแต่ชั้นจับกุม ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้ถูกจับรักษาสิทธิของตนได้
เนื่องจากยังอยู่ในภาวะตกใจและไม่มีทนายความให้ความช่วยเหลือ การที่ผู้ถูกจับให้การรับสารภาพไปนั้นจะถือว่าเป็นการรับสารภาพด้วยความเข้าใจถึงผลที่จะตามมาอย่างแท้จริงไม่ได้ และหากผู้ต้องหาประสงค์จะให้การรับสารภาพก็ยังสามารถให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนได้ภายหลังจากที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิต่างๆ ให้ผู้ต้องหาทราบและจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาแล้ว...

           ส่วนถ้อยคำอื่น ๆ รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เช่น คำให้การปฏิเสธว่าตนไม่ได้กระทำความผิด คำให้การต่อสู้ว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย คำให้การยอมรับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ไม่ได้ทำร้าย คำให้การซัดทอดผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่น  ไม่ถือว่าเป็นคำรับสารภาพ ว่าตนได้กระทำความผิด จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หากเจ้าหน้าที่ได้แจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับทราบตาม มาตรา 83 วรรคสองหรือ 84 วรรคหนึ่ง

          ฎีกาที่ 1280/2557 บันทึกการจับกุม นอกจากมีคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองแล้ว ยังมี รายละเอียดเก่ี่ยวกับสถานที่นำทรัพย์ที่ลักไปขายและการนำชี้จุดทิ้งแผ่นป้ายทะเบียนด้วย อ้ันเป็นถ้อยคำอื่นที่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองได้ ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจได้แจ้งสิทธิแก่จำเลยทั้งสองก่อนที่จะให้ถ้อยคำแล้ว จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม
ป.วิ.อาญา มาตรา 84 วรรคท้าย

           2. คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวน เป็นเพียงพยานบอกเล่า  ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3 วรรคหนึ่ง ห้ามรับฟังพยานบอกเล่าตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง
แต่ถือว่าบันทึกคำให้การรับสารภาพของผู้ต้องหาถือเป็นพยานบอกเล่าที่ต้องด้วยข้อยกเว้นให้รับฟังได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 266/3 วรรคสอง ( 1 )  เช่น เมื่อรับฟังพยานโจทก์ประกอบกันแล้วเป็นที่พอใจว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน  ( ฎีกาที่ 447/2557 )

          3. การวินิจฉัย ชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด มีน้ำหนักน้อย  ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอืนมาสนันสนุน ตาม ป.วิ.อาญา
มาตรา 227/1


ตัวอย่างคดี รับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน แล้วรอด ในคดีลักทรัพย์คำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมและพนักงานสอบสวนที่ว่า " จำเลยได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่าได้ร่วมกันลักทรัพย์ลักรถยนต์ของผู้เสียหาย " เป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยลำพัง เมื่อจำเลยให้การปฎิเสธในชั้นพิจารณาว่ามิได้กระทำความผิดและโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่น พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้ฟังว่า จำเลยได้ร่วมกันกับพวกลักรถยนต์ของผู้เสียหายไป ตามฎีกาที่ 465/2538

ตัวอย่างคดี รับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน แล้วติดคุุก  ในคดีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เเม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปและคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนที่รับว่าได้ลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเป็นเพียงพยานบอกเล่าก็ตาม แต่การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมไปตรวจค้นและยึดเครื่องยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้เป็นของกลาง เมื่อนำคำรับสารภาพของจำเลยดังกล่าวมาประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ ซึ่งเป็นผู้จับกุมและสอบสวน พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยได้ ตามฎีกาที่ 381/2531


 คำเตือน..." คุณมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ 
                    และคำให้การของคุณจะถูกใช้ปรับปรำคุณเองในชั้นศาล "

สิ่งที่ตำรวจพูดกับเมื่อจับผู้ร้าย ผู้ต้องหาได้ ในหนังฝรั่ง...

แต่เป็นสิทธิ ที่มีอยู่จริงของผู้ต้องหา ในกฎหมายอาญาและในกฎหมายรัฐธรรมนูญ...

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 83 วรรคสอง " ผู้จับต้องแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ มีสิทธิแจ้งให้ญาติหรือผู้ซ่ึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุม....

เพราะในคดีอาญา เป็นหน้าที่ของตำรวจ พนักงานอัยการ

โจทก์ที่มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ความผิดของคุณ ให้แจ่มแจ้งดั่งแสงตะวัน


แต่เมื่อคุณรับสารภาพ ก็เป็นหน้าที่คุณต้องพิสูจน์ว่า 

คุณไม่ได้ทำผิดแล้วทำไม่จึงได้รับสารภาพ..

ผมรับสารภาพเพราะโดนซ้อม โดนทำร้ายร่างกาย

ผมรับสารภาพเพราะโดนข่มขู่ ตำรวจบอกว่าถ้าไม่รับสารภาพ จะจับเมีย พ่อและแม่ไปหมดบ้าน 

ผมรับสารภาพเพราะโดนหลอกลวง ตำรวจบอกว่ามีพยานหลักฐาน แต่จริงๆ แล้วไม่มี

ผมรับสารภาพแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งสิทธิให้ผมทราบ

ผมอยากได้ทนายแต่พนักงานสอบสวนบอกว่าให้ไปสู้เอาที่ศาล...


สรุปสุดท้าย 

คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน 
เป็นเพียงพยานบอกเล่า มีน้ำหนักน้อย

ศาลต้องรับฟังพยานหลักฐานอื่นประกอบก่อนจึงจะลงโทษจำเลยได้...


ทนายความก็ต้องรับฟังหลักฐานอื่น ๆ ประกอบ 

เพื่อให้คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับลูกความได้


กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา