วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ตำรวจดึงกุญแจรถไปผิดไหม เมื่อกฎหมายจราจรไม่ได้ให้อำนาจไว้

ตำรวจดึงกุญแจรถไปผิดแน่ 100 %  
เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้

แต่กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน


สวัสดีครับ กฏหมายเพื่อความสุข เนรมิตชีวิตที่ดีกว่า 
ผมทนายธีรวัฒน์  นามวิชา ทนายความคนศรีสะเกษ

วันก่อนเห็นเพื่อนในเฟสบุ๊ค เเชร์คลิป ตำรวจนอกเครื่องแบบ ตั้งด่านสกัด ขอตรวจปัสสาวะผู้ขับขี่และทางเจ้าพนักงานตำรวจก็มีการดึงกุญแจรถยนต์ ของผู้ขับขี่ไป เพื่อเป็นการบังคับกลายๆ ให้ผู้ขับขี่ไปตรวจปัสสาวะ ถ้าตรวจไม่พบก็จะคืนกุญแจรถยนต์ให้...

ส่วนผู้ขับขี่ก็ปฎิเสธไม่ยอมให้ตรวจปัสสาวะ เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ถามชื่อยศ เจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่ยอมแจ้ง อ้างว่าเป็นความลับ...และบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นด่านไม่ชอบ ด่านเถือน เจ้าพนักงานตำรวจก็บอกว่าเป็นการตั้งด่านสกัด สามารถทำได้....

คำถามคือ กรณีดังกล่าว

1.เจ้าพนักงานตำรวจ ตั้งด่าน จุดสกัดถูกต้องตามกฎหมาย ตามระเบียบ คำสั่ง ผบ.ตร.
ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือเปล่า ???

2.เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจ " ดึงกุญแจรถยนต์ของประชาชนไปได้หรือเปล่า ? "

กฏหมายเพื่อความสุข ขอตอบว่า

1.เป็นการตั้งด่านที่ชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า ??
ตามหนังสือสังการของ ผบ.ตร. ที่ ๐๐๐๗.๓๔/๕๕๗๘ ่ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๖  เรื่อง การกำชับมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั่งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีในการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วไปและผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อป้องกันไม่ให้ภาพลักษณ์ของ ตำรวจ โดยรวมเสื่อมเสีย

โดยตามคำสั่งดังกล่าว จุดสกัด หมายถึง "สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฎิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวง ในกรณีที่มีเหตุุการณ์ฉุกเฉิน หรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้น เป็นการชั่วคราวและจะต้องยุบเลิกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว"

การตั้งจุดสกัด จะตั้งได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้น และจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับหัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้รักษาการณ์แทนขึ้นไปโดยมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าวยังคงมีอยู่เท่านั้น

่การปฏิบัติหน้าที่ ณ ด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัด จะต้องมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับตั้งแต่รองสารวัตรขึ้นไปเป็นหัวหน้า และจะต้องเเต่งเครื่องแบบในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

การปฎิบัติการในการตรวจค้น จับกุม ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ว่าด้วยการนั้นโดยเคร่งครัด

มาตรการป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ พฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต และสร้างความเดือดร้อนแ่ก่ประชาชน นั้นตามระเบียบดังกล่าว

การตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติโดยเคร่งครัด เมื่อไม่มีการตั้งจุุดตรวจ จุดสกัด ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใดหยุดรถเพื่อทำการตรวจ เว้นแต่พบความผิดซึ่งหน้าและต้องไม่เป็นไปในลักษณะการซุ่มจับอย่างเด็ดขาด

บทลงโทษสำหรับตำรวจที่ไม่ทำตามคำสั่ง ( นอกรีต ตำรวจไม่ดี ๐.๐๑% ) ก็มีทั้งโทษทั้งทางวินัยและอาญา ส่วนหัวหน้าผู้บังคับบัญชาของตำรวจที่กระทำผิดดังกล่าว ก็จะโดนโทษฐานบกพร่องละเลยไม่เอาใจใส่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาของตน

จากคำสั่งดังกล่าว จึงถือว่าด่านสกัดตามคลิปนั้น เป็นด่านเถือน ด่านลอย เนื่องจากไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินจำเป็น เร่งด่วน ไม่มีเจ้าพนักงานในเครื่องแบบ

ดังนั้นเมื่อเป็นด่านเถื่อน จุดสกัดเถือน จุดสกัดไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ใดหยุดรถเพื่อทำการตรวจค้นได้ เว้นแต่ความผิดซึ่งหน้า ประชาชนสามารถปฏิเสธไม่ทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจได้ครับ

สรุป กรณีตามคลิป เจ้าพนักงานตำรวจไม่มีอำนาจสั่งหยุดรถ เพื่อขอตรวจค้น ขอตรวจปัสสาวะได้

2.ถ้าเป็นจุดตรวจ จุดสกัด ที่ถูกกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจ " ดึงกุญแจรถยนต์ของประชาชนไปได้หรือเปล่า ? "
นั้นตามพรบ.จราจรทางบก ฯ นั้นให้อำนาจ เจ้าพนักงานจราจร มีอำนาจว่ากล่าวตักเตือน ออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบได้ ในการออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบปรับ หรือจะเรียกเก็บใบขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้ แต่ต้องออกใบแทนใบอนุญาตขับขี่ให้แก่ผู้ขับขี่ต้องรีบนำใบอนุญาตขับขี่ที่เรียกเก็บไว้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวนภายใน 8 ชั่วโมง นับแต่วันที่ออกใบสั่ง ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ ใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ได้เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 7 วัน

แต่ตามพรบ.จราจรฯพรบ.รถยนต์ฯ พรบ.การขนส่งฯไม่ได้ให้อำนาจตำรวจดึงกุญแจรถไปได้


่ดังนั้น การชักกุญแจ หรือ ดึงกุญแจรถ ยึดกุญแจรถ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะสามารถทำการยึดกุญแจรถนั้นได้ การเอากุญแจรถไปจึงผิด เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ แล้ว
 เว้นแต่ มีพฤติการหลบหนี พยายามจะหลบหนีหรือ หลบหนีมาแล้ว การชักกุญแจ หรือ ดึงกุญแจ การยิงสกัด จึงเป็นการป้องกันเหตุ ป้องกันการหลบหนี ซึ่งสามารถกระทำได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๓ วรรคสาม ว่าด้วยการจับ กุม

สรุป ถ้าเป็นจุดตรวจ จุดสกัดที่ชอบด้วยกฎหมาย ตำรวจสามาถดึง
กุญแจรถไปได้ ถ้าผู้ขับขี่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือพยายามจะหลบหนีหรือหลบหนีไปแล้วตำรวจตามจับ ถ้าไม่หนี ก็ดึงไปไม่ได้นะครับผม..

อย่าลืมกดไลค์ กฎแชร์ แบ่งปันให้เพื่อนๆ นะครับผม

กฎหมายเพื่อความสุข เนรมิตชีวิตที่ดีกว่าเพื่อชาวบ้าน

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา

วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560

อายุความคดีเช่าซื้อรถยนต์ กฎหมายอายุความคดีเช่าซื้อ มีตั้งแต่ 6 เดือน ถึงตลอดชีพ

อายุความคดี่เช่าซื้อ ไม่ว่าจะเป็นเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์

ซึ่งอายุความคดีเช่าซื้่อนั้นมีอายุความตั้งแต่ 6 เดือนถึงตลอดชีพ.



สวัสดีครับผมทนายธีรวัฒน์  นามวิชา กฎหมายเพื่อความสุข เนรมิตชีวิตที่ดีกว่า เพื่อชาวบ้าน
วันนี้พบกันว่าด้วยเรื่อง " อายุความคดีเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ "

ในเรื่องสัญญาเช่าซื้อ นั้นมีอายุความที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเช่าซื้อ อยู่หลายอายุความด้วยกัน คือ

มีอายุความตั้งแต่ 6 เดือน 2 ปี 5 ปี 10 ปี และไม่มีอายุความ แบบอายุความตลอดชีพ
ซึ่งส่วนมากที่โจทก์ บริษัทไฟแนนซ์เช่าซื้อรถยนต์ ฟ้องมาก็จะมีประมาณดังต่อไปนี้ครับ

๑.อายุความค่าขาดประโยชน์ ก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน มีอายุความ  ๖ เดือน
นับแต่บริษัทให้เช่าซื้อรับรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืน ตาม มาตรา ๕๖๓

๒.อายุความค่าขาดประโยชน์ หลังสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เลิกกัน มีอายุความ ๑๐ ปี
นับแต่วันที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงครับ

ค่าขาดประโยชน์ คือ ค่าใช้รถยนต์แล้วไม่จ่ายค่างวดคับ ทั้งก่อนบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและ
หลังจากมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แต่ผู้เช่าซื้อไม่ยอมคืนรถยนต์
รถจักรยานยนต์ให้กับไฟแนนซ์ครับ ทำให้ไฟแนนซ์เสียหายไม่ได้รับประโยชน์จากรถยนต์คันที่เช่าซื้อได้
เนื่องจากไฟแนนซ์อ้างว่า สามารถเอารถยนต์คันดังกล่าวออกให้เช่าหรือนำไปจัดไฟแนนซ์ต่อได้

๓.อายุความฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๖) ที่บัญญัติว่า " สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีอายุความ ๒ ปี...

( ๖ ) ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เรียกเอาค่าเช่า

เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อ คื่อสัญญาเช่าทรัพย์ บวกสัญญาขายเมื่อชำระค่างวดครบถ้วน ตามมาตรา ๕๗๒
ดังนั้นค่าเช่าซื้อ ค่างวดรถยนต์ จึงเป็นค่าเช่ารถยนต์อย่างหนึ่งด้วยครับ..

๔.อายุความฟ้องเรียกเอารถยนต์คันที่เช่าซื้อคืน ไม่มีอายุความจำกัดไว้ เรียกได้ตลอดชีพ

เนื่องจากเป็นเรื่องเจ้าของรถยนต์ คือบริษัทไฟแนนซ์ ติดตามเอาทรัพย์คือ รถยนต์คันที่เช่าซื้อคืน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ ครับไม่มีอายุความจำกัดไว้

๕.อายุความฟ้องเรียกค่าติดตามยึดรถยนต์คืน มีอายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐

๖.อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหาย ขายรถยนต์ขาดทุน มีอายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐ เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเรื่องเช่าทรัพย์ และเช่าซื้อไม่ได้กำหนดอายุความไว้

๗.อายุความฟ้องเรียกให้ชดใช้ราคารถยนต์คันที่เช่าซื้อแทน ในกรณีรถยนต์คันที่เช่าซื้อหาย หรือบุษสลายจนไม่สามารถใช้งานได้หรือซ่อมแซมได้ มีอายุความ ๑๐ ปี

แต่ความจริงแล้วในกรณีที่รถยนต์คันที่เช่าซื้อหาย ถือว่าสัญญาเลิกกันโดยปริยาย ถ้าไม่ใช่ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อก็ไม่ต้องรับผิดชอบครับ มีกฎหมายยกเว้นความรับผิดอยู่คับ

๘.อายุความครอบครองปรปักษ์รถยนต์คันที่เช่าซื้อ มีระยะเวลา ๕ ปี ตามมาตรา ๑๓๘๒ การครอบครองปรปักษ์ บัญญัติว่า " บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา ๕ ปีไซร์ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ " แต่ต้องแจ้งเปลี่ยนลักษณะการยึดถือครอบครองไปยังเจ้าของรถคือบริษัทไฟแนนซ์ก่อนนะครับ....

แต่ที่สำคัญแจ้งไปแล้ว อาจโดนฟ้องคดีอาญากลับมาครับ...เจตนายักยอกทรัพย์....

ภาระหน้าทีี่ในการยกอายุความขึ้นต่อสู้คดีเช่าซื้อ

เนื่องจากอายุความสัญญาเช่าซื้อเป็นคดีแพ่ง ศาลไม่สามารถหยิบยกเรื่องอายุความขึ้นมายกฟ้องเองได้ ถ้าไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้

เพราะตามมาตรา ๑๙๓/๒๔ เมื่อคดีขาดอายุความแล้ว ลูกหนี้จะสละประโยชน์แห่งอายุความก็ได้

มาตรา ๑๙๓/๒๘  การชำระหนี้ทีี่ขาดอายุความนั้นไม่ว่าจะจ่ายไปมากหรือน้อย ไม่ว่าจะรู้หรือไม่ว่าขาดอายุความแล้ว ก็เรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนไม่ได้

และมาตราสำคัญคือ มาตรา ๑๙๓/๒๙ เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้...

สรุปข้อต่อสู้คดีเช่าซื้อ เรื่องอายุความ ก็มีประมาณนี้ครับ ที่ไฟแนนซ์ฟ้องเรียกมา...

บทความที่เกี่ยวข้อง 

รถหายต้องผ่อนกุญแจต่อหรือไม่ ?

คดีเช่าซื้อ ขายรถยนต์ขาดทุน ไม่ต้องจ่ายค่าขาดราคาก็ได้?

อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามด้วยนะครับ
แล้วพบกันใหม่ ที่บทความต่อไปครับผม...

กฎหมายเพื่อความสุข เนรมิตชีวิตที่ดีกว่า เพื่อชาวบ้าน


ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา



วันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560

กฎหมายใหม่ กยศ.2560 หักเงินเดือนคนกู้ กยศ.ทันที ณ ที่จ่าย นายจ้างไม่ยอมหักต้องจ่ายหนี้แทน พร้อมค่าปรับ

พรบ.กยศ.2560 กฎหมายใหม่ กยศ. 
กำหนดให้นายจ้างต้องหักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ.ทันที ณ ที่จ่าย

หากนายจ้างไม่หักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ. ต้องจ่ายหนี้แทนพร้อมค่าปรับเงินเพิ่ม ร้อยละ 2 ต่อเดือน ครับ


แล้วกฎหมายใหม่ กยศ 2560 ตามพระราชบัญญัติ กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 
จะสามารถหักเงินเดือนทั้งคนกู้เงิน กยศ.หรือ กรอ.เก่า ก่อนที่กฎหมาย กยศ.ใหม่ 2560 
มีผลบังคับใช้ได้หรือเปล่า ?

กฎหมายเพื่อความสุข เนรมิตชีวิตที่ดีกว่า กับทนายธีรวัฒน์  นามวิชา มีคำตอบครับ..

ตาม พระราชบัญญัติ กยศ.ใหม่ 2560 

มีมาตราที่สำคัญ คือ มาตรา 2 พระราชบัญญัติ กยศ.ใหม่ มีผลบังคับเมื่อพ้น 180 นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ( ประกาศ วันที่ 27 มกราคม 2560 ) 

ดังนั้น พรบ.กยศ.2560 จึงมีผลบังคับตัั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2560

มาตรา 42 ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ ต้องปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินโดยเคร่งครัด
เพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุนและการติดตามการชำระเงินคืนกองทุน ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน  เพื่อให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้พึ่งประเมิน
ตามมาตรา ๔๐ (๑)  แห่งประมวลรัษฎากร หักเงินได้พึงประเมินของตนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ เพื่อชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาคืนกองทุน

(๒) แจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมเงินต่อหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ตนทำงานด้วย
ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงาน และยินยอมให้หักเงินได้พึงประเมินของตนเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๕๑

(๓) ยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น รวมทั้งยินยอมให้กองทุนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุน

ดังนั้นตาม พรบ.กยศ.ใหม่ 2560 ตามมาตรา 42  (๑) (๒)และ (๓)
ทำให้ กยศ.สามารถหักเงินเดือนผู้กู้เงิน กยศ.ได้ โดยผู้กู้ต้องทำหนังสือยินยอมให้หักเงินเดือน ในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน กยศ. และยินยอมให้เปิดเผยข้อมูล ขอข้อมูลจากหน่วยงานอื่น จากธนาคารอื่นได้ด้วย และประวัติการชำระเงิน กยศ. (เครดิตบูโร ) และเมื่อเข้าทำงานก็ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบด้วยว่าตนกู้เงิน กยศ. และยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนให้ กยศ. ด้วย

และตาม มาตรา๕๑ ของ พรบ.กยศ.ใหม่ 2560 ได้กำหนดเงื่อนไข 

ในการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมเงินไว้ และบทกำหนดโทษ 
หากนายจ้างไม่ยอมหักเงินเดือนส่ง กยศ.  ดังนี้  ทนายขอสรุปเลยแล้วกัน เพราะมันยาวมาก

มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ให้นายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้จ่ายเงินได้ตามมาตรา ๔๗(๑) แห่งประมวลรัฐฎากร มีหน้าที่หักเงินเดือน ผู้กู้ยืิมเงิน กยศ. ตามที่กองทุนแจ้งให้ทราบ โดยให้นำส่งให้กรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลานำส่งภาษีหักเงินได้ ณ ที่จ่าย

มาตรา ๕๑ วรรคสอง การหักเงินตามวรรคหนึ่ง ให้หักเงิน ภาษี ณ ที่จ่ายก่อน หลังจากนั้นลำดับที่ 2 ให้หักเงินให้กองทุนเพื่อการศึกษา หลังจากนั้นจึงค่อยไปหัก กองทุนกบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ หนี้ต่างๆ ตามลำดับต่อไป..

มา่ตรา ๕๑ วรรคสาม เมื่อกรมสรรพกรได้รับเงินจากนายจ้างที่หักเงินเดือนผู้กู้ กยศ. ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้กรมสรรพากรนำส่งให้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาต่อไป

่มาตรา ๕๑ วรรคสี่ บทกำหนดโทษนายจ้างที่ไม่ยอมหักเงิน ลูกหนี้ กยศ.
๑ ถ้านายจ้างไม่ยอมหักเงินได้พึงประเมิน หรือ
๒.หักแล้วไม่ได้นำส่ง หรือ
๓. นำส่งแต่ไม่ครบตามจำนวนทีี่กองทุนแจ้งให้ทราบ หรือ
๔. หักแล้วนำส่งเกินกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง

กำหนดโทษให้ นายจ้าง ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ต้องรับผิดชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ และต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ผู้จ่ายเงินได้พึ่งประเมินยังไม่ได้นำส่งหรือตามจำนวนที่ยังขาดไป แล้วแต่กรณี นับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดต้องนำส่งตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๕๑ วรรคห้า เมื่อนายจ้างได้หักเงินเดือนของลูกจ้างที่กู้ยืมเงินไว้แล้ว ให้ถือว่าลูกจ้างทีี่กู้ยืมเงิน กยศ.ได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตามจำนวนที่ได้หักไว้แล้ว ส่วนนายจ้างจะส่งไม่ส่งเป็นเรื่องของนายจ้างที่อยากโดนค่าปรับเงินเพิ่มเองครับ

สรุป กฎหมายใหม่ กยศ.ตาม พระราชบัญญัติกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560

กำหนดให้ลูกหนี้ กยศ.ใหม่ ต้องเซ้นหนังสือยินยอมให้หักเงินเดือนได้ โดยให้หักเป็นลำดับที่ 2 ต่อจากหักภาษี ณ ที่จ่าย หากนายจ้างไม่ทำตาม ก็ต้องจ่ายหนี้ กยศ.แทน และต้องจ่ายค่าปรับด้วยครับ...

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560

กฎหมายเพื่อความสุข เนรมิตชีวิตที่ดีกว่า 

อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ แบ่งปันเรื่องราวดีดี นี้ให้เพื่อนๆ ทราบนะครับผม

แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับ

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา