วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ขายที่ดิน สปก. ผิดกฎหมาย ติดคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา

การชื้อขายที่ดิน สปก.เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย

นอกจากสัญญาซื้อขายที่ดินจะตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้แล้ว

คนที่ขายที่ดิน สปก. อาจมีสิทธิติดคุกด้วยนะครับ....


สวัสดีครับผมทนายธีรวัฒน์  นามวิชา  ทนายความศรีสะเกษ กับกฎหมายเพื่อความสุข เนรมิตชีวิตที่ดีกว่า

วันนี้พบกับความทุกข์ ของชาวบ้าน ที่ขายที่ดิน สปก.-401 ให้นายทุนแล้ว โดยการส่งมอบการครอบครอง
ให้นายทุนไปแล้ว ผ่านไป 4 ปี วันดีคืนดีก็มีตำรวจมาเชิญตัวคนขายไปโรงพัก

เนื่องจากคนขายที่ดิน สปก. มีชื่อเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน สปก.-401

ทีี่มาที่ไปของคดีนี้เนื่องจาก

ชาวบ้านตาสีตาสา ขายที่ดินสปก.ให้นายทุนในราคา 100,000 บาท โดยวิธีการส่งมอบการครอบครอง
ให้นายทุนไปแล้ว  หลังจากนายทุนได้รับที่ดินไป ก็นำรถแม็คโค ขุดดินลูกรังไปขาย จนสภาพที่ดินกลายเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ไม่ได้เอาไปปลูกพัก ปลูกมัน ปลูกข้าวเหมื่อนชาวบ้านเขา

การขุดดินก็ใช้รถเเม็คโคขุด ขนดินออกไปโดยรถบรรทุก 6 ล้อ แต่ที่เกิดคดีนี้ขึ้นมาเนื่องจากว่า
นายทุนโลภมากไปหน่อย ขุดดินจนจะกินทางที่ชาวบ้านเขาใช้สันจรไปมาเป็นประจำ ชาวบ้านก็กลัวว่าทางที่ใช้สันจรไปมาจะพังลง ก็เลยบอกให้นายทุนอย่าขุดดินเข้ามาใกล้ชิดทางเกินไป แต่นายทุนก็ไม่เชื่อ

ชาวบ้านจึงไปร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม ให้ช่วยแก้ปัญหาให้...

ทุกข์ความเดือนร้อนจึงตกมาที่ คนขายที่ดิน สปก.ให้กับนายทุน เพราะมีชื่อในทีี่ดิน สปก.

ตำรวจจึงเรียกคนขายทีี่ดิน สปก.มารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากเชื่อว่าน่าจะมีส่วนรู้เห็น

  1. ข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ขุดดิน สปก.ไป โดยใช้ยานพาหนะรถหกล้อ ซึ่งโทษหนักกว่า                  ข้อหาลักทรัพย์ธรรมดา
  2. ข้อหาร่วมกัน ก่อสร้าง แผ้วถางหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าและสภาพที่ดิน ที่หิน ที่กรวด หรือที่ทรายโดยไม่ได้รับอนุญาต
ด้วยความที่คนขายที่ดิน สปก.เป็นตาสีตาสาชาวบ้านธรรมดา ไม่เรื่องข้อกฎหมาย โดยก่อนที่จะไปให้การกับตำรวจ คนซืิ้อที่ดินสปก. ก็มาบอกกับคนขายว่า "อย่าบอกตำรวจนะว่าป้าขายที่ดิน สปก.ให้ผม ถ้าบอกป้าจะติดคุก เพราะที่ดิน สปก.ห้ามซื้อขายกัน"

คนขายที่ดิน สปก. จึงให้การกับตำรวจเพียงว่า ตนไม่รู้ไม่เห็นว่าใครเป็นคนขุดดินไป ตอนนั้นตนไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดเป็นเวลาหลายปี ไม่ได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินสปก. แปลงดังกล่าว

และเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า คดีนี้ตำรวจตามหานายทุน คนในพื้นที่ ที่ลักลอบขุดดินไปขายตัวจริงไม่ได้
ป้าคนขายรับข้อหาไปคนเดียวแล้วกัน คดีนี้ของตำรวจจะได้จบๆ ไป

สุดท้ายอัยการสั่งฟ้อง คนขายที่ดิน สปก.

ในข้อหา ร่วมกันลักทรัพย์ดิน สปก.ไป โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยใช้ยานพาหนะเพื่อพาทรัพย์นั้นไป ตามมาตรา ๓๓๕ (๗) มาตรา ๓๓๖ ทวิ และข้อหาแผ้วถาง ทำลายป่า และให้คืนที่ดินที่ขุดไป ทำกลับให้มีสภาพเดิม ถ้าไม่คืนให้ชดใช้เงินเป็นจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท

คดีนี้ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่่า จำเลยมีพฤติการณ์ช่วยเหลือ ช่วยปกปิดการกระทำความผิด ตัดสินจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา และให้คืนดินที่ขุดไปจำนวน ๑๐,๐๐๐ ลูกบาตรเมตร ถ้าไม่คืนให้ชดใช้เงินเป็นจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท...

ข้อกฎหมายการชื่อขายที่ดิน สปก. แบบสรุปง่ายๆ 

  1. ที่ดิน สปก. ห้ามชื้อขาย จำหน่ายจ่ายโอนสิทธิ ยกเว้นการตกทอดทางมรดก
  2. สัญญาชื้อขายที่ดินกันขัดต่อความสงบเรียบร้อยของกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้
  3. ที่ดิน สปก. ยังถือว่าเป็นที่ดินของรัฐ ยังถือว่าเป็นที่ป่าอยู่ สปก.เพียงได้รับสิทธิในการมาบริหารเอาไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรเข้ามาทำกินเท่านั้น....เกษตรกรไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ดังนั้นการที่ขุดดิน สปก.เอาออกไปขาย จึงถือว่าเป็นการลักดินของ สปก.ไป...เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน...
ดังนั้นครับ ที่ดิน สปก. ห้ามซื้อขายกัน 

เพราะคนขาย ก็จะถูกตัดสิทธิจาก สปก..และอาจติดคุกและเสียเงินมากกว่าที่ขายไปก็ได้นะครับ

ส่วนคนซื่อ ก็จะถูก สปก.ฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน สปก.ครับ

สุดท้ายกฎหมายเพื่อความสุข เมื่อขายให้นายทุนไปแล้ว ก็บอกตำรวจไปครับว่าขายให้ใครไปแล้ว
โดยหลังจากส่งมอบที่ดินไปแล้ว เราก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีกเลย...จะทำให้ท่านผู้ขายที่ดิน สปก.รอดจากคุกจากตาราง ไม่ต้องไปติดคุกแทนนายทุนครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง


แล้วพบกันใหม่ที่บทความต่อไปครับ

    กฎหมายเพื่อความสุข

โดยทนายความคนศรีสะเกษ












วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เขตอำนาจศาล เขตอำนาจศาลแพ่ง หลงทางเสียเวลา หลงศาลแพ้คดี

ก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาล ต้องดูก่อนว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลไหน ?

หลงทางเสียเวลา หลงเขตอำนาจศาลเเพ้คดี เสียเชิงทนายความ...



ภาพ เขตอำนาจศาลจังหวัดกันทรลักษ์- ศาลจังหวัดศรีสะเกษ


สวัสดีครับ แฟนเพจทุกท่าน ผมทนายธีรวัฒน์  นามวิชา ทนายความจังหวัดศรีสะเกษ กับบทความกฎหมายเพื่อความสุข ทำหน้าที่เป็นทนายความปลดทุกข์ ให้กับคนที่มีความทุกข์ใจทุกท่าน...

กฎหมายเพื่อความสุข วันนี้ขอเสนอกฎหมายว่าด้วยเขตอำนาจศาล

เขตอำนาจศาล แค่ทนายยื่นฟ้องผิดศาล ก็แพ้คดีแล้ว...

เพราะการยื่นฟ้องผิดศาล ศาลจะไม่รับฟ้อง หรือถ้าศาลรับฟ้องไว้โดยผิดหลง ศาลก็จะสั่งจำหน่ายคดีหรืออาจยกฟ้องเสีย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีได้ถ้าฟ้องผิดศาล...

เนื่องจากศาลที่ไม่มีเขตอำนาจหนื่อคดีย่อมไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดี

การจะดูว่าคดีใดจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดนั้น นอกจากจะดูตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลต่างๆ แล้วยังต้องดูตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒ ถึง มาตรา ๔ ด้วย

ซึ่งศาลในประเทศไทยเเบ่งศาลออกเป็น ๓ ชั้นศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธํรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งการนำเสนอคดีในครั้งแรกต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น ถ้าคู่ความไม่พอใจคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ และฎีกาได้ ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา...

ศาลชั้นต้นได้แก่ ศาลจังหวัด ศาลแขวง ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแรงงาน ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลล้มละลาย ศาลปกครอง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลภาษี เป็นต้น...

เขตอำนาจศาล มีเรื่องแล้ว จะขึ้นศาลไหน 
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๔ - มาตรา ๑๐

หลักตามมาตรา ๔

( ๑ ) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น

( ๒ ) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นหรือต่อศาลทีี่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาในเขตศาล

ซึ่งให้อำนาจโจทก์เลือกได้ว่าจะฟ้องศาลไหนระหว่างศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ซึ่งส่วนมากโจทก์ก็จะเลือกฟ้องที่ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดหรือมีพยานหลักฐานพร้อมมากกว่า...

แต่เขตอำนาจศาล คดีผู้บริโภค  เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภค ในความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เดินทางมาศาล กฎหมายจึงกำหนดให้ยื่นฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะฟ้องคดี...

คดีผู้บริโภค ก็ประเภทคดีผู้บริโภคกับผู้ประกอบการ เช่น คดีบัตรเครดิต คดีเช่าซื้อ คดีเงินกู้ เป็นต้น...

คดีร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดิน ตามมาตรา ๑๓๘๒ เขตอำนาจศาล คือศาลที่ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่เพราะถือว่ามูลคดีเกิดขึ้น ณ ที่ดินซึ่งมีการครอบครองปรปักษ์

คดีร้องเป็นผู้จัดการมรดก ตามมาตรา ๔ จัตวา  เขตอำนาจศาล คือ ศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย....ส่วนในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่...เพื่อประโยชน์และความยุติธรรมแก่ทายาท เพราะถ้ากำหนดให้ยื่นได้ที่ภูมิลำเนาของผู้ร้องตามมาตรา ๔ ทำให้ทายาทต่างคนต่างก็ยื่นที่ศาลที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ เช่น ทายาทคนหนึ่งยื่นศาลจังหวัดศรีสะเกษ อีกคนยื่นที่จังหวัดอุบลราชธานี น้องคนเล็กยื่นที่จังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นคดีนี้มีผู้จัดการมรดก ๓ คน เพราะต่างคนต่างยื่น ศาลเองก็ไม่ทราบว่ามีการตั้งผู้่จัดการมรดกไปแล้ว...

เขตอำนาจศาลในจังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษมีศาลอยู่ ๓ ศาล คือ ศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ โดยแต่ละศาลมีเขตอำนาจ ดังต่อไปนี้

๑. ศาลจังหวัดศรีสะเกษ มีเขตอำนาจศาล ๑๖ อำเภอ ดังต่อไปนี้ คือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอพยุห์ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอยางชุมน้อย อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอภูสิงห์ อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอศิลาลาด อำเภอปรางค์กู่ อำเภอห้วยทับทัน อำเภอวังหิน อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ และอำเภอเมืองจันทร์

๒. ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ มีเขตอำนาจศาล ๖ อำเภอ คือ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอโนนคูณ อำเภอศรีรัตนะ อำเภอขุนหาญ อำเภอไพรบึง และอำเภอเบญจลักษ์

๓. ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ มีเขตอำนาจศาลทั้งจังหวัดศรีสะเกษ ที่เป็นคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน และคดีครอบครัว สามีภริยาและบุตร

เขตอำนาจศาล เป็นเรื่องของทนายที่จะต้องฟ้องร้องคดีให้ถูกศาล 

แต่ชาวบ้านก็ควรรู้ไว้เพราะถ้าเดินทางไปผิดศาล ท่านอาจเสียเวลา เสียเงินเพิ่มโดยใช่เหตุครับ

กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา

ทนายความจังหวัดศรีสะเกษ


วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การฟ้องเรียกบุตรคืน อำนาจปกครองของบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย

การฟ้องเอาลูกคืน จากสามีนอกสมรส 
การฟ้องเรียกบุตรคืน จากบุคคลผู้ไม่มีอำนาจปกครอง



สวัสดีครับผม ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา ทนายความจังหวัดศรีสะเกษ กับกฎหมายเพื่อความสุขวันนี้
ว่าความทุกข์ของคุณแม่ที่อยากได้บุตรกลับมาเลี้ยงดู จากสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จากคุณปู่ คุณย่า
หรือคุณแม่ที่ถูกกีดกันไม่ให้เจอลูก โทรไปก็ไม่ให้รับสาย มันทุกข์ใจจริงๆ คุณทนาย

หรือกรณีคุณพ่อที่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกบุตรคืน จากคุณยาย จากป้า...
ตามข่าวดังที่เกิดขึ้นที่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
กรณีคุณพ่อขอบุตรแฝดคืนจากคุณยาย ที่เลี้ยงดูหลานมา ๗ ปี

หรือกรณีข่าวดัง อดีตสะใภ้ตระกูลไฮโซดัง ร่ำไห้หน้าบ้านอดีตสามี ขอลูกคืน
หลังจากถูกฉกลูกไปจากหน้าโรงเรียน...

ก่อนอื่นมาดูกันก่อนนะครับว่า ใครมีสิทธิปกครองบุตรดีกว่ากันตามกฎหมาย

กฎหมายบอกว่า...

บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามมาตรา ๑๕๖๖  แต่อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาเพียงคนเดียวได้มี ๖ กรณี คือ

  1. มารดาหรือบิดาตาย
  2. ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
  3. มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
  4. บิดาหรือมารดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากจิตฟั่นเฟือน
  5. ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
  6. บิดามารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้ กล่าวคือ บิดาหรือมารดาตกลงให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของพ่อหรือของแม่ แต่จะยกให้อยู่ในอำนาจปกครองของคนอื่น เช่น ป้า ย่า ยาย ไม่ได้ แต่ตกลงให้บุตรไปพักอาศัยอยู่กับบุคคลดังกล่าวได้
และตามกฎหมาย มาตรา ๑๕๖๗ บัญญัติว่า ผู้ใช้อำนาจปกครอง ( บิดามารดา ) มีสิทธิ

  1. กำหนดที่อยู่บุตร คือ อนุญาตให้บุตรไปพักอาศัยอยู่กับคนอื่นได้ เช่นให้ยาย ให้ย่า ให้ป้าไปเลี้ยง ไปพักอาศัยอยู่บ้านย่า บ้านยาย บ้านป้าได้ เป็นต้น
  2. ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
  3. ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
  4. เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย  บุคคลอื่นคือ ที่ไม่ใช่บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยกฎหมายถือว่าคุณแม่เป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนคุณพ่อถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็ถือว่าเป็นคุณพ่อโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธินะครับ ยกเว้นไปทำเรื่องรับรองบุตรให้บุตรนอกกฎหมาย กลายมาเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก่อนถึงจะมีสิทธินะครับ...
จากกฎหมายดังกล่าว ให้สิทธิของบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่จะกำหนดว่าบุตรควรพักอยู่ที่ไหนและให้มีสิทธิเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย...สรุปง่ายๆ ก็คือ เช่น กรณีอุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ถ้าคุณพ่อที่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่แม่เด็กตายแล้ว ทำให้อำนาจปกครองบุตรตกไปอยู่ที่พ่อคนเดียว ดังนั้นการที่คุณพ่อยินยอมให้ลูกแฝดพักอาศัยอยู่กับยายและให้ยายเป็นคนเลี้ยงดู คุณพ่อย่อมมีสิทธิกระทำได้ตามมาตรา ๑๕๖๗ (๑) ในเรื่องการกำหนดที่อยู่ของบุตร 
ครั้นต่อมาเมื่อคุณพ่อมีความประสงค์ที่จะไม่ให้ลูกแฝดอยู่กับยายอีกต่อไป คุณพ่อก็มีสิทธิกระทำได้ตามมาตรา ๑๕๖๗ (๔) ในเรื่องเรียกบุตรคืนจากยายที่เป็นบุคคลอื่น....แม้คุณยายจะเลี้ยงมา ๗ ปีแล้วก็ตาม..

ที่นี้วิธีการเรียกบุตรคืน จะทำยังไงดี  การเอาบุตรคืนก็สามารถทำได้หลายวิธี 
ทั้งวิธีแบบนักเลงหรือวิธีแบบเบาๆ ตามขั้นตอนกฎหมาย..

๑.วิธีเอาลูกคืนเเบบนักเลง ตำรวจ สภ.ปรางค์กู่ท่านว่าอย่างนั้น ก็คือ เมื่อคุณพ่อคุณแม่มั่นใจในข้อกฎหมายแล้วว่าคุณพ่อ คุณแม่ มีสิทธิดีกว่าใครๆ ก็มาขอให้ตำรวจไปช่วย ไปเป็นเพื่อนให้อุ่นใจว่าไปแล้วจะไม่โดนลูกปืน หรือโดนทำร้าย จะไม่โดนข้อหาบุกรุกบ้านเขา จากนั้นอาจจบด้วยดีด้วยการได้พูดคุยกันหรืออาจจบแบบคดีน้องแฝดอุทุมพรพิสัย ที่สุดท้ายฝ่ายคุณพ่อได้ลูกไป แต่คุณพ่อกลับโดนด่า ตำรวจก็โดนด่า ถูกหาว่ายืนอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร...

            และจากกรณีดังกล่าว ที่โด่งดังไปทั่วสังคมออนไลน์ ทำให้ตำรวจกลัวกล้อง ไม่อยากโดนด่าแบบนั้นอีกแล้ว ตำรวจท่านเลยบอกว่าให้ไปใช้สิทธิทางศาลฟ้องเรียกบุตรคืนเอา...

๒. วิธีเอาลูกคืนแบบ ตำรวจไม่ไป ทำเองก็ได้ กรณีนี้ค้ือ การไปอุ้ม ไปฉกลูกคืนมา เช่นตามข่าวดังที่อดีตดาราโดนอดีตสามีตระกูลไฮโซฉกลูกไปหน้าโรงเรียน..การไปรับลูกคืนกรณีแบบนี้ต้องระวังโดนแจ้งข้อหาบุกรุกได้...และถ้าบุกรุกเข้าไปแล้วอาจโดนยิ่งตายฟรีๆ ได้...ดังนั้นสถานที่ไปรับลูกคื่นควรเป็นบริเวณสถานที่สาธารณะ เช่น บนถนน หน้าโรงเรียน เป็นต้น เพราะถ้าเข้าไปรับในโรงเรียน ควรจะต้องขออนุญาตเจ้าของสถานที่ คือท่านผอ. เสียก่อน ซึ่งท่านอาจจะไม่สะดวกใจที่จะให้เราพาลูกไปก็ได้...

คุณพ่อคุณแม่ที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถทำวิธีนี้ได้ แล้วอีกฝ่ายจะทำแบบนี้กลับได้หรือเปล่า ก็คงตอบว่าทำไม่ได้เพราะว่าเขาเหล่านั้น ไม่มีอำนาจปกครองเหมือนคุณพ่อคุณแม่ ถ้าทำอาจโดนข้อหาพรากผู้เยาว์ได้....โทษหนักยอมความไม่ได้อีกต่างหาก...

แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างมีสิทธิเหมือนกัน เช่นอีกฝ่ายเป็นคุณแม่ กับอีกฝ่ายเป็นคุณพ่อที่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่างฝ่ายต่างอุ้มลูกไป อุ้มลูกมา...ต่างคนต่างอ้างสิทธิ...ก็แนะนำให้ใช้วิธีที่ ๓ ครับจบแน่

๓.วิธีการฟ้องเรียกลูกคืน เรียกบุตรคืน โดยใช้สิทธิทางศาล สะดวก ปลอดภัย ทำแล้วจบ มีผลบังคับตามกฎหมาย หากยังดื้อแพ่งคงต้องโดนจับขังคุกเป็นแน่แท้...ซึ่งการใช้สิทธิทางศาลฟ้องเรียกบุตรคืน บางกรณีก็อาจจบด้วยความรวดเร็ว อีกฝ่ายยินดีคืนบุตรให้เพียงแค่ได้รับหมายศาลเท่านั้น แต่บางกรณีก็อาจต้องถึงชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ก็ว่ากันไปครับ...

ส่วนกรณีของคุณพ่อคุณแม่ที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสองฝ่ายนั้น...ศาลอาจตัดสินให้บุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลยก็ได้ หรืออาจให้ใช้อำนาจปกครองร่วมกัน โดยแบ่งเวลาดูแลลูกกันตามสมควร และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามคำพิพากษาของศาล ก็อาจถูกถอนอำนาจปกครองบุตรได้...

สุดท้ายทนาย อยากบอกว่า การที่ใครๆ ต่างก็รักลูกเรา เป็นสิ่งที่ดี 

แต่การที่อีกฝ่ายจะสร้างให้เด็กเกลียดชังอีกฝ่าย เพื่อครอบครองเด็ก 

เป็นสิ่งที่คนรักเด็ก รักลูกไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง.... 

...เจอผู้ปกครองแบบนี้ทนายเศร้าใจแทนเด็กครับ....

บทความที่เกี่ยวข้อง



กฎหมายเพื่อความสุข

ทนายธีรวัฒน์  นามวิชา